สพฐ.ทำโพลสำรวจปรับโครงสร้างใหม่ พร้อมตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยทั้งระบบ หวังให้เกิดความโปร่งใสไร้ทุจริต “อำนาจ” ถก ผู้บริหารสพฐ.จัดทำโพลสำรวจการปรับโครงสร้างสพฐ.ให้มีอ.ก.ค.ศ. สพฐ.และ อ.ก.ค.ศ. จังหวัด พร้อมตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยทั้งระบบ หวังให้เกิดความโปร่งใสไร้ทุจริต
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็วๆนี้นั้น ที่ประชุมได้รายงานการจัดทำOBEC โพลขึ้น ซึ่งเป็นการจัดทำโพลความคิดเห็นถึงการปรับโครงสร้างสพฐ.
โดยการให้มีอ.ก.ค.ศ. สพฐ.และ อ.ก.ค.ศ. จังหวัด โดยเป็นการเก็บข้อมูลประชากรกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ข้าราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ทั้งข้าราชการครู และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 10,258 คน ผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 12-16 พ.ค.2563 ดังนี้
1.สพฐ. ควรมีกลไกลวิธีการบริหารงานบุคคลของข้าราชการในสังกัดได้โดยตรงเพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เห็นด้วยร้อยละ 97.7%
2.ควรมีองค์คณะบุคคลเพื่อดูแลการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน สพฐ. ภายในจังหวัด และการย้ายข้ามเขตพื้นที่ เห็นด้วยร้อยละ 95.7%
3.ควรมี อ.ก.ค.ศ. สพฐ.ส่วนกลาง เพื่อกำกับ ดูแล ควบคุม และบริหารงานบุคคลที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ. สพฐ. จังหวัดและกทม.เห็นด้วยร้อยละ 92.5
4. อ.ก.ค.ศ. สพฐ. จังหวัดและกทม.ควรมีผอ.สพท. ทุกแห่งในเขตจังหวัดร่วมเป็นอนุกรรมการเห็นด้วยร้อยละ 96.0 และ
5.สพฐ.ควรมี อ.ก.ค.ศ. สพฐ. และ อ.ก.ค.ศ. สพฐ. จังหวัดและกทม. เพื่อดูแลควบคุมการบริหารบุคคลของข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด สพฐ. เห็นด้วย ร้อยละ 95.0
ทั้งนี้การจัดทำโพลดังกล่าวเพื่อให้เกิดการบริหารองค์ที่มีประสิทธิภาพในอนาคต รวมถึงการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ดร.อำนาจ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้หารือถึงการการสอบคัดเลือกครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสพฐ. โดยเฉพาะการจัดสอบสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย. ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติกร (สพร.) ไปจัดทำแผนทั้งระบบ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการดูแลเรื่องความโปร่งใสและการทุจริต
รวมถึงติดตามบุคคลที่แอบอ้างตัวเป็นติวเตอร์ หรือสร้างข้อมูลที่เป็นเท็จในการทำงานโดย สพฐ. จะมีคณะกรรมการกลางเพื่อคอยติดตามเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้การสอบคัดเลือกเกิดความยุติธรรมที่สุด ขณะเดียวกันสพฐ.ได้ทำเรื่องเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพื่อให้มีการพิจารณาอนุมัติการจัดสอบคัดเลือกครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัดสพฐ. เช่น การสอบครูผู้ช่วย การสอบคัดเลือกผอ.และรองผอ.สถานศึกษา เป็นต้น
ขอบคุณที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2563