สธ.ทดลองเปิดเรียน เหลือ 20 คน เว้นระยะห่าง 1 เมตร จัดพื้นที่ชั่วคราวเพื่อเรียนคู่ขนาน-เรียนออนไลน์ -ผลัดกันมาเรียน เน้น 6 มาตราการหลัก
สธ.ทดลองเปิดเรียน เหลือ 20 คน เว้นระยะห่าง 1 เมตร จัดพื้นที่ชั่วคราวเพื่อเรียนคู่ขนาน-เรียนออนไลน์ -ผลัดกันมาเรียน เน้น 6 มาตราการหลัก

สธ.ทดลองเปิดเรียน เหลือ 20 คน เว้นระยะห่าง 1 เมตร จัดพื้นที่ชั่วคราวเพื่อเรียนคู่ขนาน-เรียนออนไลน์ -ผลัดกันมาเรียน เน้น 6 มาตราการหลัก

เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2563 พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเปิดเทอม ว่า ขณะนี้ สธ.ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดทำคู่มือการเปิดภาคเรียนเพื่อควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 โดยแบ่งเป็น 6 มิติ คือ

1. ความปลอดภัยจากการแพร่การแพร่เชื้อโรค 2. การเรียนรู้อาจจะต้องทำรูปแบบผสมผสาน ทั้งเรียนที่ห้องเรียนและออนไลน์ เด็กทุกคนต้องฝึกการดูแลตัวเอง เช่น รับประทานอาหารอย่างไร เข้าแถวอย่างไร ใช้หน้ากากอย่างไร เป็นต้น 3. ต้องคำนึงถึงเด็กทุกคน โดยเฉพาะเด็กที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้มาโรงเรียนตามปกติ 4. สวัสดิภาพและการคุ้มครอง กรณีเจ็บป่วยหรือครอบครัวมีคนป่วย ทำอย่างไรให้เด็กได้รับการดูแล ได้รับความเข้าใจ ไม่ถูกเพื่อนรังเกียจ 5. ออกแบบนโยบายลงลึกในระดับพื้นที่ ระดับโรงเรียน ทั้งการบริหารจัดการจัดชั้นเรียนใหม่ เติมอุปกรณ์ที่จำเป็นให้เด็กเพิ่มเติม จัดจุดล้างมือเพิ่ม โรงอาหารต้องทำฉากกั้นเพื่อให้เด็กใช้งานได้ ฯลฯ และ 6. บริหารการเงิน เพราะการจัดชั้นเรียนใหม่ เติมอุปกรณ์จำเป็นที่มากขึ้น ต้องวางแผนบริหารทรัพยากรก่อนเปิดเรียน

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ขณะนี้มีการทดลองเปิดเรียนใน ร.ร.อนุบาลพิบูลเวช ย่านสุขุมวิท มีนักเรียนประมาณ 1 พันคน พบว่า 1. มีการคัดกรองวัดไข้ก่อนเข้าสถานศึกษา 2. เด็กให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากาก แต่มีความอึดอัดบ้าง 3. การล้างมือ จากเดิมเฉพาะก่อนกินอาหาร ก็เพิ่มล้างมือก่อนเข้าห้องเรียน ก่อนหลังแปรงฟัน และเมื่อเปลี่ยนกิจกรรม 4. การเว้นระยะห่าง เฉลี่ย 1 ห้องเรียนเด็กมี 40 คน เมื่อทดลองเว้นระยะห่าง 1 เมตร เด็กต่อห้องเหลือ 20-25 คน แปลว่า มีเด็กอีกครึ่งหนึ่งไม่สามารถใช้ห้องเรียนกับเพื่อนช่วงเดียวกันได้ ต้องไปออกแบบการเรียนการสอน เช่น จัดพื้นที่ชั่วคราวเพื่อเรียนคู่ขนาน หรือเรียนออนไลน์ หรือผลัดกันมาเรียน เป็นต้น 5. ทำความสะอาดเพิ่มในจุดสัมผัสร่วมกัน พื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกัน และ 6. ลดความแออัด จัดกลุ่มนักเรียนให้หมุนเวียนการใช้งานไม่ให้ทำพร้อมกัน รวมโรงอาหารก็จัดหมุนเวียนให้พอเหมาะ บางกิจกรรมต้องยกเลิก บางกิจกรรมต้องออกแบบใหม่ เช่น การแข่งขันรวมเด็กเข้าไปในห้องประชุม

“ขอให้โรงเรียนหรือกรรมการสถานศึกษาที่มีผู้ปกครองร่วมด้วย รวมถึงกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ ทำการประเมินตัวเองใน 6 มาตรการหลักผ่าน thaistopcovid โดยกรมอนามัยจะวิเคราะห์จัดกลุ่มโรงเรียน เพื่อดูว่าแต่ละด้านพร้อมไม่พร้อมอย่างไร และทำแผนส่งคืนไปที่ระดับจังหวัด เพื่อให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ใช้ข้อมูลร่วมกันในการออกแบบวางแผนดำเนินการ ซึ่งต้องพิจารณาพื้นที่ตั้งโรงเรียน สถานการณ์ระบาด ความพร้อมโรงเรียน และทำเป็นแผนการเตรียมเปิดเรียนออกมา โดยโรงเรียนที่คุมความเสี่ยงได้ดีก็ค่อยเปิดดำเนินการ หากกรณีสงสัยไม่มั่นใจว่ามีเด็กป่วย ให้แจ้งสาธารณสุขทราบทันที” พญ.พรรณพิมล กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า เรื่องการเดินทางโดยรถโรงเรียนต้องทำความสะอาดรถทุกวัน มีผู้ดูแลสุขอนามัย คนขับต้องประเมินความเสี่ยงเป็นระยะ ระหว่างโดยสารต้องเว้นระยะพอสมควร สวมหน้ากากตลอด งดการเล่นสัมผัสกัน ล้างมือก่อนและหลังขึ้นลงรถ ก่อนเข้าโรงเรียนตรวจคัดกรองอีกครั้ง ส่วนรถสาธารณะให้พยายามเว้นระยะห่าง และสวมหน้ากากตลอดเวลา ส่วนข้อกังวลเรื่องอันตรายถ้าให้เด็กสวมหน้ากากตลอดนั้น ที่ผ่านมาเราไม่แนะนำการใช้ในเด็กต่ำกว่า 2 ขวบ แต่เด็กที่ไปโรงเรียนจะอายุมากกว่า 2 ขวบ การสวมหน้ากากก็ต้องเป็นขนาดสำหรับเด็ก แต่ครูก็ต้องหมั่นสังเกตเด็กว่ามีความอึดอัดหรือไม่ ขณะที่ผู้ปกครองสามารถฝึกเด็กในการสวมหน้ากากด้วย แต่การสวมตลอดเวลาไม่มีผลเสียใดๆ ต่อเด็ก

นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า เมื่อมีการระบาดของโควิดในโรงเรียน แม้ 1 รายก็ให้ความสำคัญ ทั้งนี้ สธ.มีประสบการณ์จัดการโรคติดต่อทางเดินหายใจ อย่างไข้หวัดใหญ่ในโรงเรียน รวมถึงโรคมือเท้าปากในศูนย์เด็กเล็ก ร.ร.อนุบาล เราก็พยายามปรับมาประยุกต์ใช้กับโควิด-19 อย่างตอนไข้หวัดใหญ่ระบาดใน ร.ร. ก็ต้องแยกเด็กป่วยออกจากไม่ป่วย เด็กที่สัมผัสใกล้ชิดรับการดูแล หรือมีมาตรการปิดห้องเรียนนั้น ปิดชั้นเรียนในอาคารเดียวกัน หรือมากกว่านั้นก็ปิดโรงเรียน ซึ่งจะหารือกับ ศธ. ว่าจะพิจารณามาตรการแต่ละขั้นอย่างไร ซึ่งมีเวลาก่อนถึงวันที่ 1 ก.ค. แต่หลังป่วยแล้ว ต้องทำความสะอาดในห้องเรียน และพื้นที่ส่วนกลาง เช่น สุขา โรงอาหาร สถานที่เด็กไปล้างมือ รวมถึงสำรวจเด็กชั้นอื่น มีเด็กคนอื่นเสี่ยงหรือไม่ เพราะเด็กต่างวัยอาจไปเล่นด้วยกัน

“มาตรการแต่ละระดับว่าจะปิดห้องเรียน ชั้นเรียน ปิดอาคาร หรือปิดทั้งโรงเรียน จะขึ้นอยู่กับข้อมูลในการสอบสวนโรคด้วย เช่น ติดต่อภายในโรงเรียน หรือติดมาจากภายนอกโรงเรียน ได้ข้อมูลจากเด็ก ผู้ปกครอง ครู ครบถ้วนในการพิจารณาหรือไม่ เช่น หากมีข้อมูลครบถ้วน เด็กไม่ได้มีการสัมผัสกับนักเรียนกลุ่มอื่น ก็อาจไมมีความจำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียน อาจปิดห้องเรียนนั้น หรืออาจรอดูความเสี่ยงอีกระยะก็พอได้” นพ.อนุพงศ์ กล่าว

ขอบคุณที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 29 พฤษภาคม 2563

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่