นักการศึกษาวิเคราะห์ผล PISA2018 คะแนน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คงตัว คะแนนอ่านตกต่ำ
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค นักการศึกษาจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ วิเคราะห์ผล PISA2018 ดังนี้
ข้อสังเกตแบบเร็ว ๆ เรื่องคะแนน PISA 2018 #PISA2018 #ThailandPISA
ในฐานะที่ติดตามผลการสอบการวิเคราะห์ PISA มาพอสมควร ขอแสดงความเห็นดังนี้นะครับ ในหมู่มิตรสหายผู้สนใจ อันนี้ไม่ได้วิเคราะห์อะไรมากมายนะ แค่ฟังแถลงข่าวจาก OECD และดูในรายงานแบบผ่าน ๆ (ในอนาคตอันไม่ไกลคิดว่าคงจะเขียนวิเคราะห์แบบละเอียด ๆ อีกครั้ง)
- PISA รอบ 2018 เน้นหนักด้านการอ่าน (ทั้งหมดมี การอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์) ให้เวลาทำสองชั่วโมง แต่จะเน้นให้ทำเรื่องการอ่านอย่างละเอียดหนึ่งชั่วโมง ดังนั้นในรายงานการวิเคราะห์จะเน้นไปที่เรื่องการอ่านเป็นหลัก โดยจะเป็นการอ่านในสื่อยุคใหม่ โดยเฉพาะแบบ digital ต้องอ่านแบบวิเคราะห์ สังเคราะห์ แยกแยะ ดูว่าอันไหนเรื่องจริงปลอม ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญมากทีเดียวสำหรับมนุษย์ (ยกเว้นคนที่เป็น Dyslexia ก็อาจจะเป็นอีกกรณี คนที่ประสบความสำเร็จหลายคนก็มีอาการนี้ คือไม่สามารถอ่านเขียนได้ดีเหมือนคนอื่นๆ) แต่โดยรวม ๆ คือ คนที่อ่านหนังสือคล่อง จับใจความเป็น รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่โดนสื่อเทียม ข่าวลือ รู้จักการคิดแยกแยะ ก็มีแนวโน้มจะอยู่ในโลกสมัยใหม่ได้อย่างดีกว่า อ่อ การอ่านนี่จะแปลเป็นภาษาท้องถิ่นของทุกประเทศนะครับ จึงไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน
- ประเทศทาง East Asia จีน สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง ฯลฯ แม้จะได้ชื่อว่าเก่งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แต่เรื่องการอ่านเขาก็ยังทำได้ดีมากทีเดียว รวม ๆ เป็นกลุ่มประเทศที่คนยังให้ความสำคัญกับการศึกษาเล่าเรียน (โดยรวมๆ ในทุกด้าน) อยู่มาก
- ปีนี้เวียดนามเข้าร่วมสอบ PISA แต่ไม่แน่ใจว่าด้วยเหตุผลทางเทคนิคอะไรบางอย่าง ของการทดสอบ ทำให้ทาง OECD ตัดสินใจว่าคะแนนของเวียดนามไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ได้ น่าเสียดายเหมือนกัน (แต่เขาไม่ได้บอกว่าเป็นการโกงหรือการ manipulate ข้อมูลแต่อย่างใด เหมือนเป็นเรื่องการเก็บข้อมูลบางอย่างแล้วมันไม่ได้ตามมาตรฐานที่ควรเป็นมากกว่า…อาจจะคล้ายๆ แต่ไม่เหมือน รอบที่แล้วที่มาเลเซีย สุ่มตัวอย่างแบบไม่ได้มาตรฐาน จึงไม่ได้ถูกเอามารวม แต่ยังเอาไปใช้วิเคราะห์ในระดับประเทศได้ แต่เปรียบเทียบกับนานาชาติไม่ได้) ก็น่าเสียดายที่อดที่จะได้เห็น แต่เชื่อว่าคะแนนเขาก็คงสูง ถ้าออกมาจริง ๆ ก็ทำให้เห็นว่ามาตรฐานของ PISA หรือ OECD ยังมีสูงอยู่มาก เชื่อถือได้ ขัดกับที่หลายๆ คนชอบกล่าวหาว่า PISA ไม่ยุติธรรมกับไทย หรืออะไรทำนองนั้น เขาก็พยายามรักษามาตรฐานอยู่พอสมควร
- นอกจากคะแนนแล้ว ยังมีการเก็บข้อมูลประกอบที่น่าสนใจหลายๆ อย่าง ที่พบก็คล้ายๆ เดิม เช่น ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ใช้เวลาในห้องเรียนสูงเกือบสูงสุดในโลก (แต่คะแนนก็ไม่สูงตาม) , นักเรียนไทยไม่ได้มี growth mindset ที่สูงนัก ค่อนข้างน้อย นักเรียนเกือบ 60% เชื่อว่าสติปัญญาของตนเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ใครเกิดมาฉลาดหรือไม่ฉลาดก็ต้องเป็นแบบนั้น ประเทศที่คิดคล้ายๆ กัน ก็เช่นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย โดมินิกัน ส่วนประเทศในยุโรปหรือประเทศอุตสาหกรรมเด็กส่วนใหญ่จะเชื่อว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้ ตรงนี้เห็นความต่างกันมาก
- ประเทศเพื่อนบ้าน คือ ฟิลิปปินส์ กับ บรูไน เพิ่งเข้าร่วมครั้งแรก ..น่าสนใจที่พบว่าฟิลิปปินส์คะแนนได้ที่สุดท้ายของทั้งหมด (ปกติจะเป็นอินโดนีเซียที่อยู่ท้าย ๆ ซึ่งเข้าใจได้เพราะประเทศเขาเป็นเกาะแก่ง มีความเหลื่อมล้ำมาก..แต่ก็น่าสนใจที่ได้เห็นฟิลิปปินส์เข้ามาเปรียบเทียบกับอินโดฯ ก็อาจจะน่าอายบ้าง แต่อย่างน้อยทำให้เห็นปัญหาของการศึกษาในประเทศตน อย่าเพิ่งถอดใจล่ะ) ส่วนบรูไนคะแนนสูงกว่าไทยนิดหน่อย (แต่ต่ำกว่ามาเลเซีย) ที่น่าสนใจคือบรูไน ลงทุนต่อหัวด้านการศึกษาสูงมาก สูงกว่าประเทศรวย ๆ ในยุโรปหลายประเทศ แต่ผลที่ได้ก็ค่อนข้างต่ำมาก ก็ไม่ได้น่าประทับใจนัก
- คะแนน PISA ของไทยในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ถือว่าคงตัว (คะแนนดิบเพิ่มนิดหน่อย แต่ไม่มีนัยสำคัญ) แต่คะแนนในส่วนการอ่านตกต่ำอย่างมาก ค่อนข้างน่าตกใจทีเดียว่ หลายๆ ประเทศที่สมัยก่อนจะต่ำกว่าไทยมาตลอด เช่น บราซิล เปรู หรือพวกที่สูสีกับไทย เช่น แม็กซิโก ชิลี ตุรกี ตอนนี้ก็นำหน้าไทยไปแล้ว รวม ๆ คือ คะแนนเราไม่ค่อยพัฒนาเท่าไหร่ แถมถอยหลังลง ในขณะที่ประเทศอื่นเขาปรับตัวขึ้น การที่คะแนนการอ่านลดลงอย่างมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรากลายเป็นอันดับท้าย ๆ จริง ๆ ในรอบนี้
- ในความเห็นส่วนตัว การอ่านไม่ใช่เรื่องที่สอนทางเทคนิคได้ง่าย ๆ ไม่ใช่เรื่องที่ลงไปติวหรืออัดให้คะแนนสูง ๆ ได้ ต้องมีการใช้เวลาฝึกฝนพอสมควร ครู พ่อแม่ สิ่งแวดล้อมในบ้าน มีส่วนมาก รู้สึกว่าคนสมัยนี้มีแนวโน้มที่จะอ่านหนังสือ หรือข่าว บทความยาว ๆ น้อยลง เดิมคนอ่านหนังสือน้อยอยู่แล้ว ตอนนี้ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก ผลมันก็เลยแสดงออกมา ในขณะที่หลาย ๆ ประเทศ แม้จะเป็นกลุ่ม millennium ในยุคเดียวกัน เจอสิ่งแวดล้อมทางอินเตอร์เนท มือถือ สื่อออนไลน์เหมือนกัน แต่เยาวชนของเขาก็ยังต้องอ่านหนังสือนอกเวลา หรือมีวัฒนธรรมการอ่านที่สูงอยู่มาก
อันนี้แค่ข้อสังเกตแบบเร็ว ๆ ไว้มีเวลาจะค่อยเขียนวิเคราะห์ ๆ แบบละเอียด ๆ จริงจัง อีกทีครับ
ที่มา เฟ๊ซบุ้ค : pumsarun tongliemnak