โควิด-19 ทำรายได้ อปท.ลด เตรียมปลด พนง. กระทบงบนมโรงเรียน-อาหารกลางวัน น.ร.
โควิด-19 ทำรายได้ อปท.ลด เตรียมปลด พนง. กระทบงบนมโรงเรียน-อาหารกลางวัน น.ร.

โควิด-19 ทำรายได้ อปท.ลด เตรียมปลด พนง. กระทบงบนมโรงเรียน-อาหารกลางวัน น.ร. ล่าสุดผู้สื่อข่าว รายงานว่า อปท. ทั่วประเทศ กำลังประสบปัญหาสถานการณ์การเงิน หากไม่มีเงินสำรอง อาจจะต้องมีการปลดพนักงาน ในปีงบประมาณ 2564 จะประสบปัญหามาก เพราะเงินจะหายไปมาก นมโรงเรียนและอาหารกลางวันเด็กนักเรียน

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม รายงานข่าวจากสันนิบาตเทศบาลภาคใต้ เปิดเผยว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ โดยเฉพาะ อบต.และเทศบาล กำลังประสบปัญหาสถานการณ์การเงิน หากไม่มีเงินสำรอง อาจจะต้องมีการปลดพนักงาน หรือชะลอการรับโอนข้าราชการ ในปีงบประมาณ 2564 จะประสบปัญหามาก เพราะเงินจะหายไปมาก นมโรงเรียนและอาหารกลางวันเด็กนักเรียน ที่ได้รับงบประมาณจากสำนักงบประมาณ ขาดหายไปร้อยละ 40 เงินอุดหนุนผู้สูงอายุที่ไม่เพียงพอลดลงอีก

ที่มาของรายได้ อปท.จาก 3 ทาง คือ ภาษีโรงเรือน ขณะนี้เป็นกฎหมายที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 2 ภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บแล้วแบ่งให้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตและ 3 คือส่วนที่เป็นเงินอุดหนุน ทั้ง 3 ส่วนเกิดปัญหาทั้งหมด คือภาษีโรงเรือน อบต.และเทศบาลจัดเก็บเอง รัฐบาลสั่งยกเลิกกฎหมายเก่า แล้วไปออก พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งก่อสร้างใหม่ โดยใช้เหตุผลว่าจะทำให้มีรายได้กับเทศบาล และ อบต.มากขึ้น

“รัฐบาลได้สั่งชะลอ ทำให้เทศบาลและ อบต.ไม่สามารถเก็บรายได้มาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 2 ปี และเพิ่งจะมีคำสั่งให้จัดเก็บได้ในเดือน ส.ค.63 แล้วรัฐบาลได้สั่งให้ลดภาษีเพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน เนื่องจากกระทบโควิด-19 ให้ลดภาษีลงร้อยละ 90 เหลือร้อยละ 10 เข้าท้องถิ่น รายได้ที่ท้องถิ่นเก็บเองก็แทบจะหายไป ในส่วนที่รัฐจัดเก็บแล้วแบ่งมาให้คือภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณมีแค่ร้อยละ 40″

รายงานข่าวว่าเดือน ส.ค. รัฐบาลโอนงบมาให้ลดลงกว่าร้อยละ 70 จากเดิมที่เคยได้ ซึ่งเทศบาลและ อบต.ทั่วประเทศก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน ภาษีสรรพสามิตก็หายไปจากกรณีการระบาดโควิด-19 และในส่วนของเงินอุดหนุนที่รัฐบาลให้ประมาณร้อยละ 90 เป็นเงินที่ท้องถิ่นไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ เพราะเป็นเงินที่จะต้องใช้จ่ายตามที่รัฐบาลกำหนดไว้

“รัฐให้ อปท.นำเงินสะสมไปจ่าย แต่เงินสะสมที่ อปท.เก็บเอาไว้ ได้มาจากเงินที่เหลือจากการประกวดราคานำมาสะสมเอาไว้ เพื่อใช้ในเวลาที่เกิดภัยพิบัติ หรือเหตุการณ์ฉุกเฉิน และเมื่อสะสมได้เงินก้อนโตขึ้นมา จะสามารถนำไปทำโครงการขนาดใหญ่ที่สามารถพลิกเมืองได้ เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม”

รายงานข่าวว่ารัฐบาลพยายามผลักภาระให้ อปท. ซึ่งรัฐควรที่จะสนับสนุนจัดสรรงบให้ได้ตามนโยบายของรัฐเอง เทศบาลมี 2 ทางให้เลือกคือ ถ้าไปช่วยดูแลเด็กก็จะไม่มีเงินเดือนไปจ่ายพนักงาน ถ้าเราจ่ายเงินเดือนพนักงานก็จะไม่สามารถดูแลเด็กได้

รายงานข่าวว่าส่วนการแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดกับ อปท. โดยเฉพาะเทศบาลและ อบต. รัฐบาลต้องปลดล็อกกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะในเรื่องการใช้จ่ายเงินสะสม เพราะขณะนี้แม้จะมีเงิน แต่ก็นำไปใช้ไม่ได้ เพราะถูกกันเอาไว้ ต้องคลายล็อกก่อน รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.เงินกู้ เงินส่วนหนึ่งนำมาอุดหนุนท้องถิ่น เฉพาะในส่วนที่เป็นนโยบายของรัฐ เช่นเบี้ยยังชีพคนพิการ อาหารกลางวันเด็ก เงินผู้สูงอายุ นมโรงเรียน ที่รัฐควรจะดูแลก่อน และที่สำคัญคือรัฐบาลควรปฏิรูประบบราชการทั้งหมด

“มีเทศบาลและ อบต.หลายแห่ง จะไม่มีเงินจ่ายพนักงาน ซึ่งเป็นปัญหาที่กำลังตามมา สุดท้ายเพื่อความอยู่รอดต้องมีการลดรายจ่ายประจำลง แต่ยังกระทบพอสมควร”

ขอบคุณที่มาและรายละเอียดเพิ่มเติม : มติชนออนไลน์ วันที่ 29 สิงหาคม 2563

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่