“สพฐ.”ให้รร.รอฟังศบค.เตรียมพร้อมเปิดเรียน 1 ก.พ. ให้อิสระประเมิน-วัดผลแทนสอบ
“สพฐ.”ให้รร.รอฟังศบค.เตรียมพร้อมเปิดเรียน 1 ก.พ. ให้อิสระประเมิน-วัดผลแทนสอบ

“สพฐ.”ให้รร.รอฟังศบค.เตรียมพร้อมเปิดเรียน 1 ก.พ. ให้อิสระประเมิน-วัดผลแทนสอบวางทางเลือก 5 รูปแบบจัดการเรียนการสอนแล้วแต่สถานการณ์แต่ละที่ ระบุการสอบปีนี้ไม่จำเป็นต้องใช้บททดสอบได้ ให้รร.และครูกำหนดเองจะใช้วิธีไหนประเมิน โดยจะเลื่อนชั้นได้ต้องผ่านประเมินก่อน

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. คือการเปิดภาคเรียนกับการเตรียมสอบของนักเรียนในระดับต่างๆ สำหรับเรื่องการเปิดภาคเรียน หากว่าสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จะเปิดเรียนในวันที่ 1 ก.พ.นี้ หากไม่มีตัวแปรเรื่องโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนแปลง และทาง ศบค. มีมติเห็นชอบให้โรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอนได้ ก็จะพร้อมเปิดในวันที่ 1 ก.พ. โดยได้สื่อสารไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ ให้เตรียมทำความสะอาดหรือทำมาตรการรองรับในการเปิดเรียน ส่วนรูปแบบของการจัดการเรียนการสอน ได้มีทางเลือกไว้ให้แล้วใน 5 รูปแบบ ได้แก่ 1. On Site 2. On Air 3. Online 4. On Demand และ 5. On Hand ตามแต่สถานการณ์ของแต่ละโรงเรียน

หากเป็นโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนในหลายระดับชั้น ถ้าเปิดสอนในทุกระดับชั้นไม่ได้ ก็ให้เปิดสอนเด็กเล็กก่อนเพราะยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยพ่อแม่ผู้ปกครองดูแล เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ผู้ปกครองที่จำเป็นต้องทำงาน และหากสามารถเปิดเรียนได้หมดก็ให้เปิดได้เลย โดยคำนึงถึงประกาศของแต่ละจังหวัดเป็นฐานในการตัดสินใจ ซึ่งในส่วนของทุกโรงเรียนและคุณครูทุกคนในขณะนี้มีความพร้อมแล้ว เว้นแต่มีคำสั่งห้ามในพื้นที่หรือจังหวัดใดก็ให้ปฏิบัติตามนั้น

สำหรับการเตรียมสอบในปีนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การทดสอบที่เป็นอำนาจของโรงเรียนหรือที่เรียกว่าการทดสอบระดับสถานศึกษา แบ่งเป็นการสอบกลางภาคและสอบปลายภาค หรือการสอบเลื่อนชั้น ในการสอบกลางภาคนั้นจะให้โรงเรียนและครูเป็นคนกำหนดเองว่าจะสอบวันไหนและใช้เครื่องมืออะไรในการประเมินการสอบ ซึ่งไม่จำกัดว่าต้องใช้แบบทดสอบเท่านั้น อาจจะใช้เป็นใบงานโดยมอบหมายงานให้ทำและส่งชิ้นงานก็ได้ แต่ต้องสอดคล้องกับมาตรฐานตัวชี้วัดของแต่ละรายวิชา ส่วนการสอบปลายภาคหรือการสอบเลื่อนชั้น ในปีนี้เปิดโอกาสให้การสอบ O-NET เป็นการสอบตามความสมัครใจ

ดังนั้นโรงเรียนต่างๆ สามารถกำหนดการวัดและประเมินผลของตัวเองได้ว่าจะจัดแบบไหน โดยอาจใช้แบบทดสอบที่ สพฐ. ได้ทำเป็นแบบทดสอบส่วนกลางไว้ หรือโรงเรียนจะออกข้อสอบเอง หรือจะประเมินด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่แบบทดสอบก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยว่าสามารถเลื่อนชั้นเลยโดยไม่ต้องประเมินได้หรือไม่ ขอเรียนว่าสามารถเลื่อนชั้นได้แต่จะต้องมีการประเมินด้วย ซึ่งวิธีประเมินไม่จำเป็นต้องใช้แบบทดสอบเพียงอย่างเดียว แต่อาจใช้รูปแบบอื่นนำมาวัดและประเมินผลได้ โดยประเมินตามศักยภาพนักเรียนแต่ละคนเป็นสำคัญ

“ส่วนการประเมินในระดับชาติหรือ O-NET ที่กำหนดว่านักเรียนชั้น ม.6 ต้องเข้าสอบทุกคน ซึ่งมีกำหนดจะประเมินในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ คาดว่าในช่วงเวลานั้นสถานการณ์โควิด-19 น่าจะเบาบางลงแล้ว คิดว่าน่าจะดำเนินการได้ตามปกติ ยกเว้นว่าหากเกิดวิกฤตการณ์อื่นขึ้นมาก็ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกันต่อไป สำหรับนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ให้เป็นความสมัครใจของนักเรียนเอง”

ขอบคุณที่มาของข่าวและอ่านต่อ :: เว็บไซต์หนังสือพิมพ์สยามรัฐออนไลน์  วันที่ 21 มกราคม 2564 เวลา 10:41 น.

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่