สพฐ.ชงแก้ระเบียบ ศธ.ให้ไว้ผมยาวได้ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นต้นไป เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหานักเรียนตามข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียน ได้แก่
1.คณะทำงานด้านการละเมิด การกระทำความรุนแรง และความปลอดภัยในสถานศึกษา
2. คณะทำงานด้านกฎระเบียบที่ล้าหลังของสถานศึกษาที่กระทบต่อนักเรียน นักศึกษา
3. คณะทำงานด้านการแสดงออกทางการเมืองในสถานศึกษา และ
4. คณะกรรมการพิจารณาในประเด็นเครื่องแบบ ทรงผมนักเรียน และ
5.คณะกรรมการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ซึ่งคณะกรรมการชุดต่างๆได้สรุปข้อมูลการแก้ปัญหาต่างๆให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาไปแล้ว แต่เมื่อนายณัฏฐพลได้พ้นจากตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ จึงทำให้ข้อสรุปการแก้ปัญหานักเรียนยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้นจึงต้องรอให้ รมว.ศึกษาธิการคนใหม่เข้ามาทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง
ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า อดีต รมว.ศึกษาธิการ ได้เสนอการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มาพิจารณา ซึ่งก็คือการยกร่างระเบียบ ศธ.ว่าด้วยเรื่องทรงผมนักเรียน และร่างระเบียบ ศธ.ว่าด้วยเรื่อง เครื่องแต่งกายนักเรียน ซึ่งอดีตรมว.ศธ.มองว่าควรให้หน่วยผู้ใช้อย่าง สพฐ.ได้ทบทวนว่าข้อเสนอของคณะกรรมการแก้ปัญหาร่างระเบียบดังกล่าวสพฐ.เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์ข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียน
โดย สพฐ.ได้วิเคราะห์แล้วและมีข้อสรุปว่า ร่างระเบียบ ศธ.ว่าด้วยเรื่องเครื่องแต่งกายนักเรียน ไม่จำเป็นจะต้องปรับแก้ระเบียบใหม่ เนื่องจากระเบียบฉบับเดิมเปิดช่องให้โรงเรียน ผู้ปกครอง และนักเรียนมีส่วนร่วมในการทำข้อตกลงว่าจะใส่ชุดแบบไหนเป็นเครื่องแต่งกายนักเรียนได้อยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องนี้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการได้เอง ส่วนร่างระเบียบ ศธ.ว่าด้วยทรงผมนักเรียนนั้น คณะกรรมการฯมีข้อเสนอที่จะให้ไว้ผมยาวได้ตั้งแต่เด็กระดับปฐมวัยถึงมัธยมศึกษา ซึ่ง สพฐ.วิเคราะห์ร่วมกับผู้ปกครองและครูแล้ว มีความเห็นตรงกันว่า การให้เด็กไว้ผมยาวได้ควรเริ่มตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นต้นไป เพราะเด็กระดับนี้มีความรับผิดชอบที่จะดูแลสุขอนามัยสุขภาพผมด้วยตัวเอง ซึ่งหากให้ไว้ผมยาวตั้งแต่เด็กเล็กอาจส่งผลเรื่องการดูแลสุขภาพผมได้ เนื่องจากยังเด็กเล็ก ทั้งนี้ตนจะสรุปร่างระเบียบ ศธ.ทั้งสองฉบับนี้ให้ รมว.ศึกษาธิการ คนใหม่พิจารณาต่อไป ซึ่งก็แล้วแต่ รมว.ศึกษาธิการคนใหม่จะเห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหานี้หรือไม่อย่างไร.
ขอบคุณที่มาและอ่านต่อ : Facebook At_HeaR ข่าวจริงเข้าหู