สพฐ.ถอดบทเรียน Big Block อุปสรรคของหลักสูตรฐานสมรรถนะ
สพฐ.ถอดบทเรียน Big Block อุปสรรคของหลักสูตรฐานสมรรถนะ

สพฐ.ถอดบทเรียน Big Block อุปสรรคของหลักสูตรฐานสมรรถนะ

สพฐ. ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 4/2564 วันที่ 9 เมษายน 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยผู้บริหารของ สพฐ. ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 4/2564 ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในการประชุม เพื่อหารือข้อราชการและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของ สพฐ.

โดยมีหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจ อาทิ การประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกสถานที่ (กพฐ. สัญจร) การดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ความก้าวหน้าการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน การกำหนดระดับสมรรถนะดิจิทัล (Digital Competency : DC) สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงเรื่องของการรวมสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และการเลิกขยายชั้นเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น

ทั้งนี้ นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธาน กพฐ. ได้กล่าวภายหลังการประชุมว่า วันนี้ที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องการนำนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยกันว่า ต้องการให้แต่ละโรงเรียนมีคณะทำงานที่ดูแลเรื่องความเสี่ยงภายในสถานศึกษา ซึ่งโรงเรียนของเรายังขาดในเรื่องของคณะกรรมการด้านความเสี่ยงต่างๆ ทั้งในด้านความปลอดภัยของนักเรียน การคุกคาม การละเมิด การทะเลาะวิวาท หรือการกลั่นแกล้งรังแกกัน (Bully) ซึ่งหากเรามีคณะกรรมการด้านความเสี่ยงนี้ เมื่อมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ก็จะมีคณะกรรมการเหล่านี้คอยดูแลให้ เช่น การพาเด็กนักเรียนไปเข้าค่ายลูกเสือ คณะกรรมการก็จะมีการสอบถามครูผู้ดูแล ว่าสถานที่จัดกิจกรรมเป็นอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ หากเกิดเหตุต่างๆ ทางโรงเรียนจะมีวิธีการรับมืออย่างไร โดยดูแลความเสี่ยงทุกประเภทที่จะเกิดขึ้นในสถานศึกษา เพื่อทำให้เด็กที่ไปโรงเรียนมีความปลอดภัย และมีความสุขในการเรียน

สำหรับในเรื่องของหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยเราได้พูดเรื่องของ Big Block ที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน

ข้อที่ 1 คือตัวชี้วัด

หากเราไม่ปรับตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมให้เห็นสมรรถนะชัดเจน ก็อาจจะเป็นตัวชี้วัดที่มากเกินความจำเป็น ซึ่งครูหลายคนมีความกังวลในส่วนนี้ โดยอาจทำให้เวลาที่จะจัดกิจกรรมการเรียนรู้บางอย่าง ไม่สามารถทำการสอนได้ตามเนื้อหาที่ต้องการจะวัดในแต่ละคาบเรียน ทำให้ครูไม่กล้าที่จะสอนนอกแผนการจัดการเรียนรู้ได้มากนัก

ข้อที่ 2 คือระบบการทดสอบ

หากเรายังเน้นในเรื่องของการทดสอบอยู่ การที่จะทำให้ครูสนใจเรื่องสมรรถนะก็จะเป็นไปได้ยาก

ข้อที่ 3 คือระบบการศึกษาต่อ

เรายังขาดการเชื่อมโยงในระดับชั้นต่างๆ ทั้งในชั้น ม.1 ม.4 หรือ ม.6 เข้ามหาวิทยาลัย อย่างเช่นการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในชั้น ม.1 และ ม.4 จะคัดเลือกคนที่มีความรู้ทางวิชาการ แต่ไม่ได้วัดสมรรถนะทางด้านการคิด การสื่อสาร และการวิเคราะห์ เป็นการวัดผลทางวิชาการมากกว่าสมรรถนะที่เกิดขึ้นจริง และ

ข้อที่ 4 คือการเข้าสู่วิทยฐานะของครูและบุคลากรทางการศึกษา

หากครูต้องการเลื่อนวิทยฐานะเป็นชำนาญการหรือชำนาญการพิเศษ ก็จะเน้นที่การทำเอกสารเชิงวิชาการมากกว่า ซึ่งครูบางคนถนัดในเรื่องการเขียน แต่บางคนถนัดในเรื่องการลงมือทำมากกว่า ถึงแม้จะมีผลงานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนแต่ก็อาจเขียนได้ไม่ดีเท่าที่ทำจริงก็ได้ ที่ประชุมวันนี้จึงได้มีการพูดคุยกันในเรื่องดังกล่าว เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป

ขอบคุณที่มา : Facebook ประชาสัมพันธ์ สพฐ.

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่