บอร์ด กพฐ.ชี้ 7,000โรงเรียนประถม จ่อเลิกขยายโอกาส
บอร์ด กพฐ.ชี้ 7,000โรงเรียนประถม จ่อเลิกขยายโอกาส

บอร์ด กพฐ.ชี้ 7,000โรงเรียนประถม จ่อเลิกขยายโอกาส รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการประชุม กพฐ.เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 6 พื้นที่ 8 จังหวัด ตามที่ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 กำหนดแล้ว โดยที่ประชุมได้เสนอว่า ในระยะเวลา 7 ปี ตามที่ พ.ร.บ.กำหนดน่าจะมีการระบุถึงแผนระยะเวลาการดำเนินการให้ชัดเจนว่า แต่ละช่วงเวลาจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพื่อนำบทเรียนจากความมีอิสระในการบริหารจัดการทั้งด้านหลักสูตร ผู้บริหารมาเป็นตัวอย่างให้แก่โรงเรียนอื่นได้

ขณะเดียวกันได้ขอให้อัพโหลดหลักสูตรหรือแนวทางต่าง ๆ ให้โรงเรียนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่นวัตกรรมนำไปใช้ได้ และหากมีโรงเรียนในจังหวัดที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่นวัตกรรมฯตาม พ.ร.บ.กำหนดจะขอเป็นพื้นที่นวัตกรรมฯก็สามารถทำได้ เพราะ พ.ร.บ.เปิดให้สามารถทำได้ถ้ามีคณะกรรรมการด้านนโยบายดูแลและอนุมัติก็สามารถเป็นจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมฯได้

ประธาน กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องการดำเนินการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลนั้น ที่ประชุมได้มีการพูดถึงความชัดเจนว่า คืออะไร และในแง่ของโครงสร้างการบริหาร และครู คืออะไร  น่าจะมีการดูแลโรงเรียนเฉพาะตามบริบท เช่น ผู้บริหารต้องรู้ว่า อยากจะพัฒนาอะไร หรือมีจุดอ่อนอะไร แล้วพัฒนาตามนั้น ขณะเดียวกันก็น่าจะต้องมีโรงเรียนพี่เลี้ยงคอยดูแลด้วย

นอกจากนี้ได้มีการหารือถึงกรณีการออกประกาศนียบัตรให้แก่นักเรียน ที่เดิมจะต้องลงนาม 2 คน คือ ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กับ ผู้อำนวยการโรงเรียน แต่ที่ผ่านมาประสบปัญหาว่า บางโรงเรียนออกใบประกาศได้ช้ามาก ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบให้ ลงนามโดยผู้บริหารสถานศึกษา เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยลดภาระของประธานกรรมการสถานศึกษาฯได้ด้วย

“ที่ประชุมยังได้หารือถึงการยกเลิกขยายชั้นเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  ซึ่งพบว่า โรงเรียนขยายโอกาสจำนวนมากมีนักเรียนลด ที่ประชุมจึงมีมติว่า ในกรณีที่โรงเรียนประถมศึกษาขยายโอกาสทางการศึกษามีนักเรียน ม.1-3 ต่ำกว่า 30 คนสามารถขอยกเลิกการรับเด็กขยายโอกาสได้ ซึ่งข้อมูลนี้มีมาตั้งแต่ปี 2560 แล้ว

โดยพบว่า บางโรงเรียนมีเด็กรวมกัน 3 ระดับ แค่ 14 คน  บางโรงเรียนมีแค่ 4 คน ขณะที่บางโรงเรียนไม่มีเด็กเลย ทำให้อยากเลิกขยายโอกาสแต่ไม่ทราบว่า จะทำอย่างไร ที่ประชุมจึงมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( สพฐ.)ไปกระตุ้นเขตพื้นที่การศึกษาให้เข้าไปช่วยเหลือโรงเรียน ให้คำแนะนำโรงเรียนว่า จะต้องทำอย่างไรบ้าง เพราะการจะเลิกรับนักเรียนต้องประกาศล่วงหน้า 1 ปี โดยความเห็นชอบของเขตพื้นที่การศึกษา  แต่ถ้าประกาศล่วงหน้าน้อยกว่า 1 ปี ต้องนำเข้าบอร์ด กพฐ. ทั้งนี้มีโรงเรียนขยายโอกาสที่อยู่ในเกณฑ์ทบทวนเลิกขยายโอกาสประมาณ 7,000 โรง”รศ.เอกชัยกล่าว

ขอบคุณที่มาของข่าวและอ่านต่อได้ที่ : เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่