รื้อระบบขอตั๋วครูใหม่ จำแนก 3 ระดับบอร์ดคุรุสภาเห็นชอบในหลักการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคุรุสภา “แนวทางการปรับปรุงระบบการอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เรียนจบจากคณะครุศาสตร์รับใบรับรองการปฏิบัติการสอนอัตโนมัติทันที
เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคุรุสภาว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการของแนวทางการปรับปรุงระบบการอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาเสนอ เนื่องจากเห็นว่าเมื่อเรียนจบจากคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาวิชาชีพครูโดยตรงมาแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องมาสอบเพื่อขอรับใบรับรองการปฏิบัติการสอนอีกให้เกิดความยุ่งยาก
เนื่องจากคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ก็ถือว่าได้เรียนหลักสูตรวิชาชีพครูมีการปลูกฝังผู้เรียนครอบคลุมในทุกด้านอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อนักศึกษาที่จบจากคณะครุศาสตร์จากนี้ไปจะได้รับใบรับรองการปฏิบัติการสอน (Provisional Teaching Certificate) อัตโนมัติทันที สามารถไปสมัครสอบครูผู้ช่วยได้ทันที และเมื่อได้รับการบรรจุเป็นครูผู้ช่วยแล้ว จะมีระยะเวลา 2 ปี ในการพัฒนาตนเอง เพื่อเลื่อนฐานะจากครูผู้ช่วยมาเป็นครู
ซึ่งต้องเข้ารับการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครูเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น โดยกำหนดให้มีการทดสอบความรู้และประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ประกอบด้วย วิชาครู (PCK และทักษะวิชาชีพครู) และ วิชาที่สอน (Content พื้นฐาน)
“แนวทางการปรับปรุงระบบการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูใหม่นั้น ได้กำหนดให้มีใบรับรองการปฏิบัติการสอน (Provisional Teaching Certificate) ซึ่งจำแนกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
1.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (Basic Professional Teaching License: B-license)
2.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นกลาง (Intermediate Professional Teaching License :I-license)
3.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง (Advanced Professional Teaching License : A-license)
โดยมีระบบการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (Basic Professional Teaching License: B-icense) กำหนดให้มีการทดสอบความรู้และประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ประกอบด้วย วิชาครู 6 วิชาที่สอน โดยแบ่งเป็น 5 ประเภท ดังนี้ ปฐมวัย การศึกษาพิเศษวิชาบูรณาการวิชาเฉพาะ (ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน) อาชีวศึกษา ตามหลักสูตรการอาชีวศึกษา แยกตามสาขา/แขนง ทั้งนี้ ความรู้ในวิชาการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร วิซาการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และวิชาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นสาระความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพครู จะถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์บังคับของการรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษา เพื่อการประกอบวิชาชีพครู และการรับรองความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพครู” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว.
ด้าน รศ.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) รักษาการเลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า เรื่องนี้ได้มีการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ผลิตครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณบดีคณะครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ แล้ว ร้อยละ 90 ต่างเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ใช้ครูทั้งรัฐและเอกชน ร้อยละ 95 ก็เห็นด้วยและอย่างให้มีการนำระบบดังกล่าวมาใช้โดยเร็ว เพราะจะช่วยยืดหยุ่นให้ผู้ที่อยากจะเข้ามาสู่อาชีพครูได้เข้ามาสอบเป็นครูได้สะดวกขึ้น อีกทั้งระบบสามารถเทียบเคียงกับนานาชาติ ที่สำคัญระบบยังเชื่อมโยงกับการพิจารณาวิทยฐานะใหม่ด้วย อย่างไรก็ตามคุรุสภาจะจัดทำรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวก่อนนำกลับมาเสนอคณะกรรมการคุรุสภาเพื่อขอความเห็นชอบอีกครั้งก่อนจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป.
ขอบคุณเนื้อหาจาก At HeaR