สสวท.จัดประกวด ผลงานดีเด่นด้านโค้ดดิ้ง CODING Achievement Awards ชิงโล่รางวัลจากกระทรวงศึกษาธิการ ส่งผลงานภายใน 15 กรกฎาคม 2565
ขอเรียนเชิญคุณครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษา เข้าร่วมส่งผลงานประกวด CODING Achievement Awards เพื่อค้นหาสุดยอดคุณครูที่มีการจัดการเรียนรู้ด้าน Coding ดีเด่น ท้ังในรูปแบบ Unplugged และ Plugged Coding ชิงโล่รางวัลจากกระทรวงศึกษาธิการ มาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผยแพร่ไอเดียในชั้นเรียนกันดีกว่า Coding ง่ายกว่าที่คิด พิชิตยุคดิจิทัล
ที่มาและความสำคัญ
ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีการประกาศใช้มาตรฐานหลักสูตรการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๐) โดยเพิ่มเติมสาระที่ ๔ เทคโนโลยี ซึ่งมีวิชาวิทยาการคำนวณ (Computing Science) ที่ประกอบด้วยองค์ความรู้หลัก ๓ ด้าน ได้แก่ ๑) วิทยาการคอมพิวเตอร์ เช่น การแก้ปัญหา Coding การใช้ตรรกะ ๒) การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการแก้ปัญหา ๓) การใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัยและรู้เท่าทัน
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดประกวด ผลงานดีเด่นด้านโค้ดดิ้ง ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณและโค้ดดิ้ง โดยมีการจัดอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจในมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด และแนวทางการจัดการเรียนรู้ให้ครูผู้สอนสาระเทคโนโลยีทั้งในรูปแบบการอบรมออนไลน์และแบบพบหน้าทั่วประเทศ ในการนี้ สพฐ. และสสวท. เห็นพ้องต้องกันว่า ควรมีการจัดเผยแพร่องค์ความรู้และแสดงผลงานดีเด่นด้าน Coding ทั้งในรูปแบบ Unplugged และ Plugged ใน ๔ ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยเปิดรับสมัครให้คุณครูผู้สอนในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือกลุ่มสาระอื่นที่ได้นำองค์ความรู้ด้านโค้ดดิ้งไปบูรณาการให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่นอย่างเหมาะสมทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ร่วมส่งผลงานเพื่อคัดเลือกเป็นผลงานดีเด่นรวมทั้งสิ้นจำนวน ๔๐ ผลงานในแต่ละภูมิภาค โดยมีผลงานรวมทั้งสิ้น ๑๖๐ ผลงาน
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อติดตามผลการนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ในชั้นเรียนอย่างเป็นรูปธรรม
๒. เพื่อคัดเลือกนวัตกรรมหรือรูปแบบการจัดการเรียนการสอนด้าน Coding ที่สามารถเผยแพร่เป็นแบบอย่างให้กับครู
๓. เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจให้กับครูผู้สอน
ประเภทรายการครูดีเด่น
๑. Unplugged Coding ระดับประถมศึกษา จำนวน ๑๐ ผลงาน/ภูมิภาค รวม ๔๐ ผลงาน
๒. Unplugged Coding ระดับมัธยมศึกษา จำนวน ๑๐ ผลงาน/ภูมิภาค รวม ๔๐ ผลงาน
๓. Plugged Coding ระดับประถมศึกษา จำนวน ๑๐ ผลงาน/ภูมิภาค รวม ๔๐ ผลงาน
๔. Plugged Coding ระดับมัธยมศึกษา จำนวน ๑๐ ผลงาน/ภูมิภาค รวม ๔๐ ผลงาน
ผู้ส่งผลงาน
ครูในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งเป็นครูผู้สอนในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือกลุ่มสาระอื่นที่ได้นำองค์ความรู้ด้าน Coding ไปบูรณาการให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่นอย่างเหมาะสม สามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้ ๒ ประเภทตามระดับชั้นที่สอน คือ
๑. การจัดการเรียนรู้การเขียนโปรแกรมแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์ Unplugged Coding
๒. การจัดการเรียนรู้การเขียนโปรแกรมแบบใช้คอมพิวเตอร์ Plugged Coding
ทั้งนี้ครูทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้สามารถส่งรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ๑ ผลงานต่อ ๑ ประเภทตามระดับชั้นที่สอน ในการเข้าร่วมการคัดเลือกเท่านั้น
กำหนดการคัดเลือกผลงาน
ขั้นตอนการดําเนินงานการเผยแพร่องค์ความรู้และแสดงผลงานดีเด่นด้าน Coding ในส่วนภูมิภาค
๑. แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนการเผยแพร่องค์ความรู้และแสดงผลงานดีเด่นด้าน Coding
ของภูมิภาค
๒. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ เขตเจ้าภาพ ประชุมคณะทำงานทำงานด้านวิชาการ และด้านการจัดแสดงผลงาน
๓. สพฐ. และสสวท. จัดทำหนังสือแจ้งประชาสัมพันธ์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อประชาสัมพันธ์ คุณครูส่งผลงานดีเด่นด้าน Coding ภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๕ ในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๕ โดยให้เขตพื้นที่การศึกษาแต่ละเขตจัดทำแบบฟอร์มรับสมัครของตนเอง
๔. ครูในภูมิภาคดำเนินการจัดส่งแสดงผลงานดีเด่นด้าน Coding ปีการศึกษา ๒๕๖๔-๒๕๖๕ ไปยังเขตพื้นที่การศึกษา ระหว่างวันที่ ๑ มิถุนายน – ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕
๕. จัดประชุมชี้แจงการดำเนินงาน โดยให้มีการแจ้งทุกเขตพื้นที่การศึกษา โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ ภายในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๕
๖. แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานและจัดทำรายงานการคัดเลือกผลงานดีเด่นด้าน Coding ส่วนภูมิภาค
๗. จัดประชุมชี้แจงเกณฑ์การตัดสินให้คณะกรรมการแต่ละภูมิภาคทราบผ่านแอปพลิเคชัน Zoom โดยสพฐ.ร่วมกับสสวท. ภายในเดือนมิถุนายน
๘. เขตพื้นที่การศึกษาคัดเลือกผลงาน เขตละ ๑ ผลงาน/ประเภท ส่งคณะกรรมการตัดสินผลงานดีเด่นด้าน Coding ส่วนภูมิภาค ภายในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕
๙. คณะกรรมการคัดเลือกผลงานดีเด่นด้าน Coding ส่วนภูมิภาค ภูมิภาคละ ๔๐ ผลงาน ระหว่างวันที่ ๑ – ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๕ โดยคณะกรรมกรตัดสินจะต้องไม่ประเมินผลงานของผู้สอนในเขตพื้นที่ของตนเอง โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้
- กรรมการต้องไม่ตัดสินในกรณีสถานศึกษาของตนเข้าแข่งขัน
- กรรมการต้องไม่ตัดสินในกรณีสถานศึกษาในสังกัดเข้าแข่งขัน
- กรรมการที่มาจากครูผู้สอนควรแต่งตั้งให้ตัดสินในระดับชั้นที่ทำการสอน
- กรรมการควรมีที่มาจากเขตพื้นที่การศึกษาอื่นอย่างหลากหลาย
๑๐. คณะกรรมการสรุปผลการประเมิน และแจ้งผลสรุปการคัดเลือกจำนวน ๔๐ ผลงานต่อภูมิภาค เพื่อเสนอผลการคัดเลือกต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ ฯ
๑๑. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขตเจ้าภาพ ประกาศผลการคัดเลือก ภายในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ และดำเนินการประสานครูเจ้าของผลงานในการเข้าร่วมในการแสดงผลงานดีเด่นด้าน Coding
๑๒. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขตเจ้าภาพ จัดงานเผยแพร่องค์ความรู้และแสดงผลงานดีเด่นด้าน Coding และมอบเกียรติบัตร พร้อมโล่รางวัลจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้กับครูที่ได้รับการคัดเลือก ภายในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕
หลักเกณฑ์การประกวด
ผู้ส่งผลงาน
ครูในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศ โดย ๑ คนสามารถส่งผลงานเข้าคัดเลือกได้เพียง ๑ ประเภท คือ Unplugged หรือ Plugged Coding เท่านั้น โดยเป็นผลงานการสอนในปีการศึกษาที่ ๒๕๖๔ – ๒๕๖๕
องค์ประกอบผลงานที่ส่งเข้าประกวด
๒.๑ รูปเล่มการจัดการเรียนรู้ Coding ไม่เกิน ๕๐ หน้า (ให้บันทึกเป็น .pdf) ประกอบด้วย
๒.๑.๑ ปก คำนำ สารบัญ สารบัญตาราง สารบัญภาพ
๒.๑.๒ ส่วนที่ ๑ รายงานการดำเนินการวิเคราะห์จัดการเรียนรู้ Coding อย่างเป็นระบบ มีองค์ประกอบแสดงถึงแนวทางการวิเคราะห์ ผลการวิเคราะห์เพื่อการจัดการเรียนรู้ Coding
๒.๑.๓ ส่วนที่ ๒ แผนการจัดการเรียนรู้รายชั่วโมง จำนวน ๑ แผน โดยในแผนจะต้องมีใบกิจกรรมหรือใบงาน อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างน้อย ๑ อย่าง เกณฑ์การวัดและประเมินผล บันทึกหลังการจัดการเรียนรู้ และได้รับการรับรองแผนการจากผู้บริหารสถานศึกษา/รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารวิชาการ และหัวหน้ากลุ่มการเรียนรู้ ที่แนบต่อท้ายมาด้วย
๒.๑.๔ ส่วนที่ ๓ หลักฐานการจัดการเรียนรู้ Coding และหลักฐานการรับรองความถูกต้องด้านเนื้อหา และสื่อการสอนที่ปรากฏในวีดิทัศน์นำเสนอการจัดการเรียนรู้ Coding จากครูผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้น/รองหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้/หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้
๒.๑.๕ ส่วนที่ ๔ หลักฐานผลที่เกิดจากการจัดการเรียนรู้ Coding
๒.๒ วีดิทัศน์การจัดการเรียนรู้ Coding ที่มีความยาวไม่เกิน ๑๕ นาที สร้างขึ้นด้วยตนเอง ไม่เคยเผยแพร่ ไม่เคยได้รับรางวัล ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ใดของบุคคลอื่น โดยนำวีดิทัศน์ดังกล่าวไปเผยแพร่ในช่องทาง Youtube จำนวน ๑ วีดิทัศน์
วิธีการส่งผลงานเข้าประกวด
๓.๑ จัดส่งรูปเล่มการจัดการเรียนรู้ Coding เป็น Google drive และส่ง Url ตาม Google form ที่กำหนด
๓.๒ จัดส่งวีดิทัศน์การจัดการเรียนรู้ Coding โดยส่ง Url Youtube ตาม Google form ที่กำหนด
รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://bit.ly/3GvZxzr
บทความที่เกี่ยวข้อง
- สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ จัดประกวดคลิปวิดีโอ ในหัวข้อ ลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน รับสมัคร 15 พ.ค. ถึง 10 มิ.ย. 2565
- กฟผ. เปิดรับสมัครโรงเรียนเข้าร่วมการประกวดและการประเมิน กิจกรรมโรงเรียนคาร์บอนต่ำ โรงเรียนสีเขียว ประเมินอาคารเบอร์ 5 ในสถานศึกษา ปีการศึกษา 2565
- ขอเชิญประกวดออนไลน์ในโครงการ “เท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี” ครั้งที่ 50 ประจําปี 2565