แบบทดสอบออนไลน์ เรื่อง คุณธรรม จริยธรรม สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่านเกณฑ์ 80% รับเกียรติบัตรทันที โดย สพป.สุพรรณบุรีเขต 3
ครูอาชีพดอทคอม ขอแนะนำแบบทดสอบออนไลน์ฟรี สามารถดาวน์โหลดเกียรติบัตรได้ทันที เมื่อสอบผ่านเกณฑ์ ในโครงการการวัดความรู้ ความเข้าใจ เรื่องคุณธรรม จริยธรรม สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 3 โปรดตรวจสอบให้ถูกต้องก่อนส่งแบบทดสอบ
การที่ครูจะปฏิบัติหน้าของครูอย่างเต็มศักดิ์ศรีและเต็มความภาคภูมิได้นั้น ครูจำเป็นต้องมีหลักยึดเพื่อนำตนไปสู่สิ่งที่สูงสุดหรือเป็นอุดมคติของอาชีพ นั่นก็คือ การมีอุดมการณ์ครู อุดมการณ์ครู มีหลักการที่จะยึดไว้ประจำใจทุกขณะที่ประกอบภารกิจของครูมีอยู่ 5 ประการ ดังนี้ เต็มรู้ เต็มใจ เต็มเวลา เต็มคน เต็มพลัง
เต็มรู้ คือ มีความรู้บริบูรณ์
อาชีพครูเป็นอาชีพที่ต้องถ่ายทอด อธิบายให้ความรู้แก่คน ดังนั้นครูทุกคนจะต้องเป็นผู้ที่ทำให้ตนเองนั้นบริบูรณ์ หรือเต็มไปด้วยความรู้ ครูควรจะทำให้บริบูรณ์ในตัวครูประกอบด้วยความรู้ 3 ประการ คือ
1. ความรู้ด้านวิชาการและวิชาชีพ ครูควรเสาะแสวงหาความรู้ รวบรวมข้อมูลโดยการอ่าน การฟัง และพยายามนำประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อมาถ่ายทอดให้ผู้เรียนของตนได้เกิดความรู้ที่ทันสมัย ดังนั้นครูจะต้องแสวงหาความรู้ที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมให้ผู้เรียน เรียนอย่างครบถ้วนเหมาะสมตามระดับความรู้นั้น
2. ความรู้เรื่องโลก ครูควรมีความรู้และประสบการณ์ชีวิตอย่างเพียงพอ เพื่อสามารถอธิบายบอกเล่า ถ่ายทอด ทัศนคติ ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามของชาติ ของสังคมไปสู่ศิษย์ ครูควรเข้าใจชีวิตอย่างเพียงพอที่จะให้คำแนะนำ คำสั่งสอน เพื่อให้ศิษย์ได้ดำเนินชีวิตที่ดีในอนาคตได้ ดังนั้น นอกเหนือจากตำราวิชาการ ครูแสวงหาความรู้รอบตัวด้านอื่น ๆ ให้บริบูรณ์โดยเฉพาะความเป็นไปของระเบียบ ประเพณี สังคม วัฒนธรรม
3. ความรู้เรื่องธรรมะ ครูควรมีสิ่งยึดเหนี่ยวในจิตใจ เพื่อที่จะสามารถอบรมสั่งสอนให้ศิษย์มีความคิดที่ดี มีความประพฤติดี ไม่ว่าครูจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ทุกศาสนามีจุดหมายเดียวกันคือมุ่งให้คนเป็นคนดี ครูที่มีความรู้ด้านธรรมะจะสามารถหยิบยกเรื่องธรรมะมาเป็นอุทาหรณ์ สำหรับสั่งสอนศิษย์ได้ เช่น จะสอนให้ศิษย์ประสบผลสำเร็จด้านการศึกษา เล่าเรียนได้ดี ก็ยกหัวข้อธรรมะ อย่างอิทธิบาท 4 คือ
1.พอใจในการศึกษา รักและสนใจในวิชาที่ตนเรียน
2.มีความเพียรที่จะเรียน ไม่ย่อท้อ
3.เอาใจใส่ในบทเรียน การบ้าน รายงาน
4. หมั่นทบทวนอยู่เสมอ
ถ้าศิษย์เข้าใจและนำไปปฏิบัติได้ก็ย่อมทำให้ศิษย์ประสบความสำเร็จในการศึกษานอกจากที่ครูจะต้องทำตนให้บริบูรณ์ด้วยธรรมะเพื่อไปสอนศิษย์ ครูก็จะได้รับประโยชน์จากการศึกษาธรรมะเพื่อให้ครูไม่หวั่นไหวต่อกิเลส อันทำให้จิตของครูต้องเป็นทุกข์เศร้าหมอง ครูก็ย่อมจะเบิกบานและได้รับความสุขที่จะได้สอนคนในเรื่องต่าง ๆ อีกด้วย การศึกษาธรรมะจึงจำเป็นสำหรับอาชีพครู
เต็มใจ คือ ความมีใจเป็นครู
พุทธศาสนาถือว่า “ใจนั้นแหละเป็นใหญ่ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากใจทั้งนั้น” ดังนั้น คนจะเป็นครูที่มีอุดมการณ์จำเป็นต้องสร้างใจ ให้เป็นใจที่เต็มบริบูรณ์ด้วยการ มีใจเป็นครู การทำใจให้เต็มนั้นมี มีความหมาย 2 ประการคือ
ใจครู การทำใจให้เต็มบริบูรณ์ นั้น จะต้องถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบดังนี้
1. รักอาชีพ ครูต้องมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพ เห็นว่าอาชีพครูมีประโยชน์ มีเกียรติ มีกุศล ได้บุญ ได้ความภูมิใจ และพอใจที่จะสอนอยู่เสมอ พยายามที่จะแสวงหาวิธีสอนที่ดีเพื่อศิษย์
2. รักศิษย์ มีใจคิดอยากให้ศิษย์ พ้นจากสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ครูต้องมีใจนึกอยากให้ทุกคนมีความสุข พยายามชี้แนะหนทางสู่ความสำเร็จและความสุขให้แก่ศิษย์
ยินดีหรือมีมุทิตาจิต เมื่อเห็นศิษย์ประสบความก้าวหน้าในชีวิต ความรักศิษย์ย่อมทำให้ครูสามารถทุ่มเทและเสียสละเพื่อศิษย์ได้
ใจสูง ครูควรพยายามทำใจให้สูงส่ง มีจิตใจที่ดีงาม การจะวัดใจเราว่าสูงหรือไม่ มีข้อที่ลองถามตัวเองได้หลายประการ เช่น
1. ทำงานอยู่ที่ใด ท่านมักจะด่าว่านินทา เจ้านายแห่งนั้น หรือดูถูกสถาบันหรือเปล่า
2. ท่านมักจะคิดว่าเพื่อน ๆ ร่วมงานของท่านนิสัยไม่ดีส่วนใหญ่หรือเปล่า
3. ทำไมท่านก็ทำดี แต่เจ้านายไม่เห็น
4. ทำไมคนอื่น ๆ จึงโง่และเลว
5. ท่านยอมไม่ได้ที่จะให้คนอื่นดีกว่า เพราะท่านคิดว่าท่านดีกว่าคนอื่น
6. ทำไมที่ทำงานของท่าน จึงเอาเปรียบท่านและกีดกันท่านตลอด
การทำจิตใจให้สูง ก็คือ การที่มองเห็นคุณค่าของมนุษย์โลกและการคิดที่จะสร้างสรรค์ให้โลกมีแต่สิ่งที่ดีงาม มองโลกและคนในแง่ดีใจกว้าง ยอมรับข้อดีและข้อเสียของตนเองและคนอื่นไม่คิดว่าตนเองฉลาด หรือเก่งกว่าผู้ใด ไม่คิดว่าตนเองดีกว่าคนอื่น คิดเสมอว่าจะช่วยให้คนมีความรู้มีความคิดและความประพฤติปฏิบัติที่ดี คิดอย่างเป็นธรรมว่าตนเองมีข้อบกพร่องเช่นกัน
เต็มเวลา คือ การรับผิดชอบ การทุ่มเทเพื่อการสอน
ครูที่มีอุดมการณ์ จะต้องใช้ชีวิตครูอย่างเต็มเวลาทั้ง 3 ส่วน คือ
1. งานสอน ครูต้องใช้เวลาในการเตรียมการสอนอย่างเต็มที่ วางแผนการสอนค้นคว้าหาวิธีการที่จะสอนศิษย์ในรูปแบบต่าง ๆ และในขณะที่ดำเนินการสอนต้องสอนให้ครบตามเวลาที่กำหนด เข้าสอนตรงเวลา เลิกสอนให้ตรงเวลา
2. งานครู นอกเหนือไปจากการสอน ครูต้องให้เวลาแก่งานด้านต่าง ๆ เช่น งานธุระการ งานบริหาร บริการและงานที่จะทำให้สถาบันก้าวหน้า
3. งานนักศึกษา ให้เวลา ให้การอบรม แนะนำสั่งสอนศิษย์ เมื่อศิษย์ต้องการคำแนะนำ หรือต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าในเวลาทำงานหรือนอกเวลาทำงาน ครูควรมีเวลาให้ศิษย์
เต็มคน คือ การพัฒนาตนเองให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
การพัฒนาตนเองให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์โดยที่ครูเป็นแม่พิมพ์หรือพ่อพิมพ์ที่คนในสังคมคาดหวังไว้สูง และมีอิทธิพลต่อผู้เรียนมาก ครูจึงจำเป็นที่ต้องมีความบริบูรณ์ในความเป็นมนุษย์ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์สังคม ครูจึงควรสำรวมกาย วาจา ใจให้มีความมั่นคงเป็นแบบอย่างที่ดีงามในการแสดงออกทั้งในและนอกห้องเรียน การที่จะทำให้ตนเองเป็นคนที่เต็มบริบูรณ์ได้ คนผู้นั้นควรเป็นคนที่ดีมีความคิดที่ถูกต้องเห็นสิ่งที่ดีงามถูกต้อง มีการพูดที่ดี มีการงานที่ดี มีการดำเนินชีวิตที่ดี ปฏิบัติการถูกต้อง หมั่นคิด พิจารณาตนเอง เพื่อหาทางแก้ไข้ปรับปรุงตนเองให้มีความบริบูรณ์อยู่เสมอ
เต็มพลัง คือ การทุ่มเทพลังสติปัญญาและความสามารถเพื่อการสอน
ครูจะต้องใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ ทุ่มเทไปเพื่อการสอน เพื่อวิชาการ เพื่อศิษย์ ครูต้องอุทิศตนอย่างเต็มที่ ทำงานอย่างไม่คิดออมแรง เพื่อผลงานที่สมบูรณ์นั้นก็คือ การปั้นศิษย์ให้มีความรู้ความประพฤติงดงาม เป็นที่พึงประสงค์ของสังคม
ครูที่มีหลักยึดไปครบเต็ม 5 ประการนี้ ย่อมเป็นครูที่มีครุธรรม ที่พร้อมจะเป็นผู้ชี้ทางแห่งปัญญา ชี้ทางแห่งชีวิต และชี้ทางแห่งสังคมในอนาคตได้เป็นอย่างดี ดังนั้นครูควรสร้างอุดมการณ์ครู เพื่อความก้าวหน้าของสังคมไทย และการพัฒนาวิชาชีพครู
ตัวอย่างเกียรติบัตร
การปริ้นเกียรติบัตร
เมื่อกดยืนยัน หากผ่านการทดสอบจะได้รับเกียรติบัตรทันที
สอบถามรายละเอียดที่ : กลุ่มนิเทศ SPB3