แจกไฟล์ตัวอย่างสคริปต์แรงบันดาลใจ ไฟล์เวิร์ด เป็นแนวทางในการจัดทำไฟล์วิดีทัศน์ นำเสนอในระบบ DPA โดยครูรัชฎาพร โตใหญ่
ตัวอย่างสคริปต์แรงบันดาลใจ สภาพปัญหาการจัดการเรียนรู้และคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน
เรียนท่านคณะกรรมการการประเมินวิทยฐานะในระบบ DPA ที่เคารพทุกท่านค่ะ
ดิฉันนางสาวรัชฎาพร โตใหญ่ ตำแหน่งครู ไม่มีวิทยฐานะ ปฏิบัติหน้าที่เป็นครูผู้สอนรายวิชาภาษาไทยระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และปีที่ 4 ของโรงเรียนดงตาลวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรีค่ะ
สำหรับแรงบันดาลใจในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามคลิปวีดิโอ เรื่อง การย่อความโดยใช้
วรรณคดีเป็นฐาน ก็คือ เนื่องจากปัจจุบันการเรียนการสอนรายวิชาภาษาไทย โดยเฉพาะด้านการสอนวรรณคดีและวรรณกรรมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก และนักเรียนหลายคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจเพราะการเรียนวรรณคดีที่ผ่านมาจะเป็นการฟังการบรรยายหรือการท่องจำเป็นส่วนใหญ่ และนักเรียนจะต้องเรียนวรรณคดีจำนวนหลายเรื่อง แต่ละเรื่องก็มีความแตกต่างกันในเรื่องของรูปแบบและเนื้อหา ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่จะจำเนื้อหาของวรรณคดีไม่ค่อยได้ หรือไม่ค่อยเข้าใจในเนื้อหาของวรรณคดีครูผู้สอนก็พบปัญหานี้จากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชาภาษาไทยสาระที่ 5 วรรณคดีและวรรณกรรมของนักเรียนโรงเรียนดงตาลวิทยา ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้คุณครูเกิดแรงบันดาลใจที่จะต้องเปลี่ยนมุมมองความคิดของนักเรียน และทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้และเข้าใจวรรณคดีและวรรณกรรมได้อย่างมีความสุข โดยในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในครั้งนี้คุณครูเลือกนำวรรณคดีเรื่อง “มหาชาติหรือมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์” มาใช้ในการจัดกิจกรรมให้กับนักเรียน โดยบูรณาการกับหลักภาษาไทยในสาระที่ 2 คือ การเขียนย่อความนั่นเองค่ะ
โดยคุณครูได้คิดนวัตกรรมหรือเทคนิคการสอนรูปแบบใหม่ขึ้นเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเทคนิคการสอนที่จะใช้ในครั้งนี้ คือ เทคนิคการสอน KRUICE Model โดยได้แรงบันดาลใจมาจากชื่อเล่นของคุณครูผู้สอน โดยมีตัวย่อ ดังนี้ 1 K คือ Knowledge หมายถึง ความรู้ นักเรียนจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับวรรณคดีที่เรียนเช่น ผู้แต่ง ที่มา ลักษณะคำประพันธ์ ตัวละคร แก่นเรื่อง ข้อคิด ฯลฯ ในคาบเรียนนี้นะคะนักเรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องย่อของวรรณคดีเรื่องมหาชาติหรือมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์
2 R คือ Ralation หมายถึง เรียนรู้ร่วมกัน นักเรียนจะต้องเรียนรู้ร่วมกันมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยในคาบเรียนนี้นักเรียนจะทำกิจกรรมเรียนรู้สู่ผองเพื่อน นักเรียนแบ่งกลุ่มทั้งหมด ๔ กลุ่ม กลุ่มละ 3-4 คน เพื่อทำกิจกรรม “แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สู่ผองเพื่อน” (Friend Learning Share)
โดยตัวแทนกลุ่มจะมาจับสลากเพื่อได้หัวข้อในการทำกิจกรรม ดังนี้
สลากที่ ๑ สรุปองค์ความรู้ กัณฑ์ทศพร กัณฑ์หิมพานต์ กัณฑ์ทานกัณฑ์
สลากที่ ๒ สรุปองค์ความรู้ กัณฑ์วนปเวสน์ กัณฑ์ชูชก กัณฑ์จุลพน
สลากที่ ๓ สรุปองค์ความรู้ กัณฑ์มหาพน กัณฑ์กุมาร กัณฑ์มัทรี
สลากที่ ๔ สรุปองค์ความรู้ กัณฑ์สักรบรรพ กัณฑ์มหาราช กัณฑ์ฉกษัตริย์ กัณฑ์นครกัณฑ์
เมื่อแต่ละกลุ่มได้รับหัวข้อแล้วให้เริ่มทำกิจกรรมกลุ่ม คือ การย่อความตามเนื้อหาของกัณฑ์ที่กลุ่มตนเองได้รับในรูปแบบของ “แผนผังความคิด” จากหนังสือเรียนวรรณคดีและวรรณกรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยให้เวลาทำกิจกรรมประมาณ 15 นาที เมื่อหมดเวลาทำกิจกรรมกลุ่มแล้ว ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มเริ่มเวียนศึกษาแผนผังความคิดเรื่องมหาเวสสันดรชาดกของเพื่อนแต่ละกลุ่มจนครบทั้ง ๔ กลุ่ม โดยให้เวลาศึกษากลุ่มละ 3 นาที หากชื่นชอบผลงานของกลุ่มใดให้แจกรูปดาวบนชิ้นงานของเพื่อน ๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะต้องบันทึกเนื้อหาที่ได้เรียนรู้จากงานของเพื่อนลงในใบงานกลุ่มที่ครูมอบหมายให้ครบถ้วน และทันเวลาที่กำหนด
3 U คือ Understanding หมายถึง นักเรียนมีความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาวรรณคดีที่ได้เรียน โดยเมื่อนักเรียนทุกกลุ่มศึกษาผลงานของเพื่อนครบแล้วให้แต่ละกลุ่มนับจำนวนดาวที่ได้บนชิ้นงานของตนเอง กลุ่มที่ได้ดาวมากที่สุดจะได้รับรางวัลและได้มานำเสนอเป็นกลุ่มแรก ซึ่งครูจะให้นักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับชิ้นงานของเพื่อนแต่ละกลุ่มว่ามีจุดเด่น หรือจุดที่ควรปรับปรุงอย่างไร เพื่อเป็นการฝึกให้นักเรียนรู้จักประเมินผลงานของเพื่อน และเมื่อนำเสนอครบทุกกลุ่มคุณครูจะให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อเรื่องมหาชาติหรือมหาเวสสันดรชาดก
4 I คือ Inspiration หมายถึง ครูผู้สอนต้องสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนในการเรียนรู้ โดยครูผู้สอนเองจะฝึกให้นักเรียนเป็นคุณครูให้กับเพื่อน ๆ โดยใช้กิจกรรมกลุ่ม “เรียนรู้สู่ผองเพื่อน” 5 C คือ Creative หมายถึง นักเรียนต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างผลงานของตนเองโดยครูผู้สอนจะสังเกตได้จากการที่นักเรียนรู้จักบูรณาการความรู้ในรายวิชาศิลปะมาใช้ในการตกแต่งชิ้นงานของตนเอง โดยในคาบเรียนนี้ครูผู้สอนได้กำหนดชิ้นงานแบ่งเป็น ๒ ลักษณะ ได้แก่ งานกลุ่มที่มีลักษณะเป็นแผนผังความคิด และงานรายบุคคล คือ ให้นักเรียนใช้องค์ความรู้ในรายวิชาคอมพิวเตอร์มาใช้ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานด้วยแอปพลิเคชั่น แคนวา และ 6 E คือ Encouragement หมายถึง ครูผู้สอนควรให้การสนับสนุน และให้กำลังใจในการเรียนและการทำกิจกรรมต่าง ๆ
ซึ่งในระหว่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้นั้นคุณครูจะคอยกระตุ้นและให้กำลังใจนักเรียนในการทำกิจกรรมกลุ่ม โดยครูจะคอยสังเกตพฤติกรรมนักเรียนแต่ละกลุ่มว่ามีปฏิกิริยาอย่างไรเช่น หากมีนักเรียนกลุ่มใดที่อาจจะช้าในการวางแผนการทำงานกลุ่มครูผู้สอนก็ต้องคอยกระตุ้นด้วยเวลาและให้คำแนะนำที่เหมาะสมเพื่อนักเรียนจะได้รู้สึกมีกำลังใจในการทำกิจกรรม
หลังจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิค KRUICE Model เสร็จเรียบร้อยแล้ว ผลปรากฏว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มากกว่าร้อยละ 90 มีความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับการย่อความและเข้าใจเนื้อหาของวรรณคดีเรื่อง “มหาชาติหรือมหาเวสสันดรชาดก” มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้ฝึกกระบวนการทำงานเป็นกลุ่ม ฝึกเป็นคุณครูตัวน้อยในการประเมินชิ้นงานของตนเองและของเพื่อน ๆ และมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนวรรณคดีและวรรณกรรมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้องค์ความรู้เรื่องของการย่อความยังถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและสามารถนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ สำหรับวันนี้ต้องขอขอบพระคุณท่านคณะกรรมการทุกท่านเป็นอย่างสูง ขอขอบพระคุณค่ะ
ขอบคุณไฟล์ ครูรัชฎาพร โตใหญ่