สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการประกันคุณภาพการศึกษา ผ่านการประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อให้มั่นใจว่าการศึกษาไทยมีมาตรฐานและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภายใต้กรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา พ.ศ. 2567-2571 สมศ. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินคุณภาพภายนอกที่เหมาะสม โดย สมศ. มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่สถานศึกษาสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา
ซึ่งที่ผ่านมา สมศ. ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต้นสังกัดและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานศึกษาเกิดการตื่นตัว และตระหนักถึงความสำคัญว่าการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. นั้นไม่ได้เป็นการสร้างภาระ แต่เป็นการ “ประเมินเพื่อพัฒนา” ให้สถานศึกษาทราบจุดเด่นเพื่อต่อยอด ทราบจุดบกพร่องเพื่อพัฒนา และที่สำคัญเป็นการสร้างความตระหนักว่าการประเมินคุณภาพภายนอก เป็นระบบที่ช่วยสะท้อนภาพที่แท้จริงของสถานศึกษาและคุณภาพการเรียนการสอนว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดหรือไม่ ทำให้สถานศึกษาได้เห็นจุดแข็งและจุดที่ควรพัฒนาของตนเองได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ดร.รัตติกร ทองเนตร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาศรีสะเกษ ยโสธร เปิดเผยว่า ปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนการประกันคุณภาพการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม สถานศึกษาต้องมีการบูรณาการการประกันคุณภาพภายในและภายนอกให้เป็นเสมือนงานเดียวกัน ทั้งนี้ ได้จัดโครงการที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานการประกันคุณภาพของสถานศึกษา เช่น โครงการส่งเสริมพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อให้การประกันคุณภาพภายในเข้มแข็ง รวมถึงสื่อสาร
แนวทางการขับเคลื่อนให้ไปในทิศทางเดียวกันเพื่อที่จะประสบความสำเร็จและเดินหน้าไปพร้อมกัน ซึ่งปัจจัยความสำเร็จของการประกันคุณภาพของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (ศรีสะเกษ – ยโสธร) คือการที่บุคลากรในพื้นที่ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการกลุ่ม ประธานสหวิทยาเขตทั้ง 12 แห่ง และผู้บริหารทุกสถานศึกษาทั้ง 83 แห่งในพื้นที่ ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการประกันคุณภาพให้มีประสิทธิภาพ

พร้อมกับจัดประชุมในรูปแบบ Online ให้กับสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่ง เพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในแต่ละมาตรฐานและตัวชี้วัด ว่าจะต้องเตรียมการอย่างไรบ้าง สถานศึกษาต้องเขียนรายงานอย่างไรที่จะให้เห็นข้อมูลที่ชัดเจน พร้อมให้คำปรึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันว่าทำอย่างไรให้งานที่สถานศึกษาดำเนินการอยู่แล้ว ให้เป็นวิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือเป็นแบบอย่างที่ดี ตลอดจนสิ่งที่จะนำมาประกอบในการประเมินในแต่ละมาตรฐาน และตัวชี้วัดว่าจะต้องมีอะไรบ้าง ควบคู่ไปกับการให้ศึกษานิเทศก์รับผิดชอบไปนิเทศสถานศึกษาแบบบูรณาการ เป็นพี่เลี้ยง ช่วยเหลือ และดูแลสถานศึกษาว่าในแต่ละตัวชี้วัด สถานศึกษาสามารถดำเนินการได้ถึงระดับไหน พร้อมกับให้ศึกษานิเทศก์ดูแลว่าสถานศึกษานั้นๆ จำเป็นต้องเพิ่มเติมสิ่งใดให้ครบถ้วน โดยไม่ต้องทำอะไรใหม่เนื่องจากเป็นสิ่งที่สถานศึกษาได้ดำเนินการเป็นปกติอยู่แล้ว จึงเป็นการง่ายต่อการพร้อมรับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ.
สิ่งสำคัญคือสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้องบูรณาการร่วมกันในเรื่องของการประกันคุณภาพภายในและการประกันคุณภาพภายนอก โดยทำให้เป็นกิจวัตร พร้อมทั้งนำนวัตกรรม ตลอดจนเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้เพื่อความสะดวกรวดเร็ว หากสถานศึกษามีคุณภาพก็จะทำให้บุคลากรในสถานศึกษามีคุณภาพ และสามารถสร้างให้ผู้เรียนเป็นคนดี คนเก่ง และเป็นคนมีคุณภาพ ซึ่งถ้ามีผู้เรียนที่มีคุณภาพจำนวนมากจะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไป ดร.รัตติกร กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน ดร.จิตตนาถ สิงห์โต ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ได้เข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา พบว่ามาตรฐานตัวชี้วัดของ สมศ. ตามกรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา พ.ศ. 2567-2571 มีความสอดคล้องกับมาตรฐานตัวชี้วัดของ สพฐ. อยู่แล้ว เพียงแต่ในการเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. นั้น สถานศึกษาจะต้องมีการเตรียมการวางแผน โดยเฉพาะในเรื่องของการทบทวนตัวชี้วัดของ สมศ. รวมทั้งแผนงานของโครงการที่เกี่ยวข้องในแต่ละมาตรฐานเกี่ยวกับกระบวนการและวิธีการที่ได้มาซึ่งความสำเร็จทั้งของผู้เรียน หรือของบุคลากร หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

และข้อมูลที่สำคัญเป็นอย่างมากคือ ข้อเสนอแนะจากการประเมินคุณภาพภายนอกในรอบที่ผ่านมา สถานศึกษาได้นำมาใช้ในการปรับปรุงพัฒนาในโครงการใดบ้าง เพื่อเป็นการพัฒนาต่อยอดการดำเนินงานของสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง ปัญหาของสถานศึกษาขนาดใหญ่และสถานศึกษาขนาดเล็กนั้นมีความแตกต่างกันตามบริบทของสถานศึกษา สถานศึกษาขนาดเล็กส่วนมากจะมีบุคลากรน้อย ทำให้ข้อมูลมักอยู่ที่บุคคลเพียงคนเดียวซึ่งอาจจะต้องรับผิดชอบค่อนข้างมาก แต่มีข้อดีคือสามารถบูรณาการได้ง่ายและคล่องตัวในการดำเนินงาน ส่วนสถานศึกษาขนาดใหญ่ จะแยกเป็นแต่ละฝ่ายที่มีหน้าที่ดูแลเป็นรายตัวชี้วัด ทำให้เก็บข้อมูลยาก เพราะมีผู้ดูแลจำนวนหลายคน แต่ทุกปัญหาอยู่ที่การบริหารจัดการ โดยเฉพาะตัวผู้บริหารเองที่จะต้องเป็นผู้ประสานงานให้ได้มาซึ่งข้อมูลตามตัวชี้วัด เพื่อจัดทำรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR)
ดร.จิตตนาถ กล่าวเพิ่มเติมว่า งานประกันคุณภาพเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างประกันคุณภาพภายในและประกันคุณภาพภายนอก ที่ผู้บริหารสถานศึกษาต้องดำเนินการขับเคลื่อนเพราะเป็นหน้าที่หนึ่งของการบริหารจัดการศึกษา ถ้าการขับเคลื่อนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีการเก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์อยู่แล้ว สถานศึกษาไม่ต้องกังวลในเรื่องการรับการประกันคุณภาพภายนอก เพราะผู้ประเมินภายนอกจะสามารถเห็นได้ถึงการทำงานและความตั้งใจในการดำเนินงานที่สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาสถานศึกษา