ก.ค.ศ. แจงเกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูแบบใหม่ จะทำให้โรงเรียนมีครูครบชั้น นักเรียน 120 คนขึ้นไป มี รอง ผอ. 1 คน
รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เปิดเผยถึงเกณฑ์ อัตรากำลัง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซึ่งที่ประชุม ก.ค.ศ.ครั้งที่ 8/2563 ได้เห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวขึ้น เนื่องจากหลักเกณฑ์เดิมใช้มาตั้งแต่ปี 2545 ไม่สอดคล้องกับบริบทการจัดการศึกษาในปัจจุบัน
โดยหลักเกณฑ์ใหม่นี้ จะทำให้การเกลี่ยอัตรากำลังจากโรงเรียนขนาดใหญ่ไปโรงสู่โรงเรียนขนาดเล็กจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภายในระยะเวลา 5 -7 ปี ในการเกลี่ยอัตรากำลัง โดยใช้วิธีการบรรจุเข้าไปใหม่ หากมีตำแหน่งว่างและการเกลี่ยโดยการย้าย
ซึ่งจะทำให้โรงเรียนจะมีครูครบชั้น ทุกวิชาเอก การบรรจุ และการย้าย เป็นไปตามวิชาเอกที่โรงเรียนขาด พร้อมทั้งนำไปสู่การวางแผนอัตรากำลังในระยะ 10 ปี ของกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งการวางแผนการผลิตครูในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้การผลิตครูเหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่ง ก.ค.ศ.ได้ประสาณงานกับสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อทำแผนการผลิตร่วมกัน พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกัน 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ก.ค.ศ. คุรุสภา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย เสนอ รมว.ศึกษาธิการ ลงนาม เพื่อร่วมกันวางแผนการใช้อัตรากำลังคนของกระทรวงศึกษาธิการ และการผลิตครูต่อไปในอนาคต
“การปรับเปลี่ยนครั้งนี้เราคำนึงถึงโรงเรียนขนาดเล็กที่ต้องการให้มีคุณภาพการเรียนการสอนสูงมากขึ้นและนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเกณฑ์ใหม่ที่ปรับนี้จะเห็นว่าโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า40คน จะมีครูขั้นต่ำ 4 คน ไม่รวมโรงเรียนกลุ่มที่เป็นสแตนด์อะโลน ที่อยู่ห่างไกลไม่สามารถควบรวมกับโรงเรียนอื่นได้ และเขาสามารถดำเนินการด้วยตัวของเขาเองได้
ขณะเดียวกันโรงเรียนที่มีจำนวนเด็กตั้งแต่ 41 คนขึ้นไปถึง 81 คน การคิดคำนวณใหม่ตามสูตรนี้จะมีครู 6 คน และมีครูครบชั้น ดังนั้นโรงเรียนที่มีนักเรียน40 คนขึ้นไปครูจะต้องครบชั้น โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 81 คนขึ้นไปต้องมีครู 8 คน ทั้งนี้ในการกำหนดและการคำนวณตามเกณฑ์อัตรากำลังใหม่นี้ จะให้ความสำคัญกับรองผู้อำนวยการสถานศึกษาที่มีนักเรียน 120 คนขึ้นไป จะมีรองผู้อำนวยการได้ 1 คนแต่จะต้องมีภาระงานสอนด้วยไม่ใช่มาบริหารงานโรงเรียนอย่างเดียว”รศ.ดร.ประวิต กล่าว
ดังนั้นการกำหนดเกณฑ์รอบนี้จะเห็นว่าจำกำหนดตามขนาดของโรงเรียนเพื่อให้การเกลี่ยครูได้ดีขึ้น จะเห็นว่าโรงเรียนจะได้รับสัดส่วนในการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆตั้งแต่โรงเรียนขนาดเล็กจนถึงโรงเรียนขนาดใหญ่ตั้งแต่ 1,680 คนขึ้นไป ดังนั้นการกำหนดเกณฑ์อัตรากำลังใหม่นี้จะนำไปสู่การเกลี่ยอัตรากำลังจากโรงเรียนขนาดใหญ่ไปสู่โรงเรียนขนาดเล็กจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยบรรจุเข้าไปใหม่เมื่อมีตำแหน่งว่าง เกลี่ยโดยการย้ายซึ่งในการย้ายจะต้องพิจารณาตามวิชาที่โรงเรียนขาด
ดังนั้นการเกลี่ยอัตรากำลังเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญ ครูครบชั้นในโรงเรียนขนาดเล็กขณะเดียวกันครูก็จะครบรายวิชาด้วยเพราะในการกำหนดเกณฑ์อัตรากำลังครั้งนี้จะลงในมิติของคุณภาพแต่ละโรงเรียนจะมีครูในวิชาเอกทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้แยกจากกันชัดเจน และการบรรจุข้าราชการครูและการย้ายต่อไปจะต้องคำนึงถึงวิชาเอกที่โรงเรียนขาดจริงๆ จะไม่เจอปรากฏการณ์ที่ครูวิชาเอกเดียวกันจะอยู่ในโรงเรียนจำนวนมาก โดยไม่มีกระจายวิชาเอก เกณฑ์อัตรากำลังนี้จะมีการวางแผนอัตรากำลังความต้องการครูในศึกษาธิการใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนการผลิตครูของสถาบันวิจัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ผลิตครูจนล้นความต้องการขณะเดียวกันก็จะเน้นในมิติในเชิงคุณภาพมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ก.ค.ศ.ได้ประสานกับสถาบันฝ่ายผลิตแล้วทางคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์เพื่อมาทำแผนการผลิตร่วมกันแล้ว
ขอบคุณที่มา : FOCUSNEWS วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 | เว็บไซต์ ศธ360 องศา