กสทช.หนุนแพ็กเกจเดือนละ 79 บาท 2 เดือน ช่วยนักเรียนเรียนออนไลน์

กสทช.หนุนแพ็กเกจเดือนละ 79 บาท 2 เดือน ช่วยนักเรียนเรียนออนไลน์

เมื่อวันที่  27 ก.ค. นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช. ได้เห็นชอบให้ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในขณะนี้ ใน 4 เรื่อง คือ

1.ช่วยเหลือเรื่องแพ็กเกจโทรศัพท์สำหรับนักเรียน

ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ที่ต้องเรียนออนไลน์จากที่บ้าน โดยทั้งหมดต้องสังกัดกระทรวงการศึกษาธิการ

ซึ่งได้อนุมัติกรอบวงเงิน 1,200 ล้านบาท เพื่อใช้สนับสนุนแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตมือถือ มูลค่า 79  บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้จำนวน 2 เดือน ตั้งแต่ 15 ส.ค.-15 ต.ค. ใช้ในภาคต้น ของปีการศึกษา 2564 เพื่อใช้ในโปแกรมต่างๆ อาทิ ไมโครซอฟต์ทีม, กูเกิลมีท, ซูม, Cisco Meeting, Webex และ ไลน์แชต ฯลฯ และจะมีปริมาณดาต้าเพิ่มให้อีก 2 กิกะบิต ส่วนนักเรียนท่านใดใช้ไวไฟ ของบรอดแบรนด์ที่ติดตามบ้านก็จะสนับสนุนมูลค่าเท่ากันในจำนวน 2 รอบบิล โดยทางกระทรวงศึกษาธิการจะแจ้งไปยังโรงเรียนต่างๆ เพื่อดาวน์โหลดแบบฟอร์มคำร้องจากหน้าเว็บไซต์ กสทช.แล้วส่งมายัง กสทช.โดยตรง เพื่อที่จะประสานกับผู้ให้บริการมือถือและอินเทอร์เน็ต

“ในแบบฟอร์มจะต้องระบุชื่อนักเรียน และชื่อเจ้าของเบอร์ที่ใช้ทำการเรียนการสอน ค่ายมือถือหรือเบอร์สมาชิกอินเทอร์เน็ตที่ใช้บริการ เพื่อที่จะได้มีความรวดเร็วในการประสานงานกับผู้ให้บริการต่างๆ เป็นการส่งเสริมการศึกษาให้กับเยาวชนและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวของเด็กนักเรียน ”

2.เรื่องการโทรฯ ฟรี (ไม่มีค่าใช้จ่าย)

เมื่อโทรฯ เข้าเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 4 หลัก ได้แก่ เลขหมาย 1330 (สปสช.), 1323 (กรมสุขภาพจิต), 1422 (กรมควบคุมโรค), 1646 (ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม.), 1668 (กรมการแพทย์), 1669 (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ), 1506 (สำนักงานประกันสังคม) และ 1138 (กรมการสื่อสารทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย) ที่เปิดให้ประชาชนใช้ติดต่อในเรื่องสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของหน่วยงานภาครัฐ 

3. สนับสนุนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคม

อุปกรณ์สื่อสาร และอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อรองรับการบริหารจัดการและดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ซึ่งต้องมีการสื่อสารกับผู้ป่วยโดยผ่านระบบ Video Call หรือ Teleconference เป็นหลัก รวมทั้งมีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน โดยให้การสนับสนุน 1.ระบบ ไวไฟ 2.เครื่องคอมพิวเตอร์ 3.แท็บเล็ต และ 4.เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น รวมทั้งสนับสนุนค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยที่อยู่ในโครงการ 

4. สนับสนุนการส่งข้อความสั้น (SMS)

กรณีหน่วยงานภาครัฐต้องดำเนินการแจ้งประชาชนในเรื่องเกี่ยวกับวัคซีน การรักษา และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับ โควิด-19

“กสทช. พร้อมสนับสนุนการศึกษา การเรียน-การสอน และสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้านสาธารณสุขของประเทศ รวมถึงร่วมดูแล ป้องกัน แจ้งเตือน และช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในภาวะวิกฤติการระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ครั้งนี้” นายไตรรัตน์ กล่าว

ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 27 กรกฎาคม 2564

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่