“ณัฏฐพล” สั่ง สพฐ.-สทศ. สังคายนาระบบทดสอบซ้ำซ้อน ให้เหลือเพียงการทดสอบที่ใช้นำไปศึกษาต่อและมีประโยชน์ต่อเด็กจริงๆ
เมื่อวันที่ 13 เม.ย. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ในการปรับระบบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ของนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และม.6 เพื่อให้การทดสอบมีมาตรฐานและเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น โดยตนจะเริ่มรื้อระบบการทดสอบวัดความรู้ด้านต่างๆในเด็กระดับชั้น ม.6 ก่อน ซึ่งจะพยายามทำให้การทดสอบวัดความรู้เหลือเพียงการทดสอบที่ใช้นำไปศึกษาต่อและมีประโยชน์ต่อการเรียนของเด็กจริงๆ เพราะขณะนี้เด็ก ม.6 สอบซ้ำซ้อนหลายวิชาเริ่มตั้งแต่การสอบโอเน็ต การทดสอบความถนัดทั่วไป (แกต) และความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (แพต) และการทดสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ดังนั้นเราสามารถปรับการทดสอบของเด็กให้เหลือการสอบเดียวแต่คลอบคลุมการศึกษาต่อและประเมินทักษะความรู้หมดทุกอย่างได้หรือไม่
“ผมไม่ได้รื้อการทดสอบต่างๆ ของนักเรียน เพียงเพราะคะแนนโอเน็ตต่ำ หรือสูง แต่คิดว่าเราสามารถปรับการสอบต่างๆให้เหลือการสอบเดียว แต่ทำให้ครอบคลุมการวัดและประเมินผลได้ รวมถึงสามารถนำคะแนนการทดสอบไปใช้ศึกษาต่อได้จริง เหมือนการสอบข้อสอบของ SAT (Scholastic Assessment Test) ที่เป็นข้อสอบมาตรฐาน สำหรับการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา และยังใช้เป็นตัวชี้วัดว่าเด็กมีความสามารถเข้าเรียนในสาขาวิชาคณะไหนได้บ้าง ทั้งนี้ผมไม่อยากให้เด็กต้องมานั่งกดดันตัวเองทุกครั้งที่มีการทดสอบและนำมาบอกว่าการสอบต่างๆเป็นตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง เพราะเด็กบางคนที่เป็นเด็กเก่งไปทดสอบการสอบระดับสากล แต่ทำไมมาสอบโอเน็ตกลับได้คะแนนไม่ดี มันเกิดอะไรขึ้นในกระบวนการสอบหรือไม่ หรือแม้กระทั่งเราอยากให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นแต่ไม่ได้สร้างข้อสอบให้คิดวิเคราห์จริงๆ ดังนั้นผมจึงมอบเป็นการบ้านให้สพฐ.และสทศ.กลับไปทบทวนในเรื่องนี้แล้ว” รมว.ศธ.กล่าว
ขอบคุณที่มา : At Hear ข่าวจริงเข้าหู