นักวิชาการหนุนแก้ รธน. ชี้พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เหมือนย้อนเวลากลับไปในอดีต เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า กรณีที่ภาคสังคม และพรรคการเมืองเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 นั้น
ส่วนตัวสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ วางจุดที่จะทำให้สังคมระเบิดไว้หลายเรื่อง ไม่ให้เสรีภาพ ที่สำคัญไม่มีการเตรียมคน หรือสร้างคนรุ่นใหม่ ถูกออกแบบมาเพื่อสืบทอดอำนาจอนุรักษนิยม หากไม่เร่งแก้ไขเชื่อว่า ต่อไปจะเกิดปัญหาความรุนแรงขึ้นในสังคมมากขึ้น ทั้งนี้ในส่วนของด้านการศึกษา มีจุดอ่อนอยู่ที่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.. ซึ่งไม่มีการกำหนดเรื่องสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไว้ในกฎหมาย กลับไปสู่รูปแบบอนุรักษนิยม เช่น กำหนดให้ครูเป็นต้นแบบ และฟื้นคำว่าครูใหญ่ เหมือนในอดีต
“ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ เหมือนย้อนเวลากลับไปในอดีต มีความอนุรักษนิยมมากขึ้น เรื่องนี้สภาผู้แทนราษฎร ต้องคิดกันให้ดี แม้ในรัฐธรรมนูญฯ จะมีส่วนดีอยู่บ้าง ตรงที่กำหนดให้มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ให้โอกาสเด็กยากจน แต่ก็ยังมีจุดที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะการเตรียม คนซึ่งรัฐธรรมนูญฯฉบับนี้ยัง เป็นการเตรียมคนเพื่อเข้าตลาดแรงงาน เพียงอย่างเดียว ยังไม่ใช่การเตรียมคนเพื่อพร้อมสำหรับการเป็นพลเมืองของโลก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ”
นายฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) กล่าวว่า ส่วนตัวสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญ เพราะเท่าที่ดูรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดอ่อนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกฎหมายต่าง ๆ ที่เน้นกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ การตรวจสอบคุณภาพการศึกษา ไม่สะท้อนการจัดการศึกษาที่แท้จริง การศึกษาของไทยยังเน้นใบปริญญา ทั้งที่ควรปรับมาเน้นเนื้อหาทักษะ ความรู้ ที่ผู้เรียนจะได้รับ ขณะที่ในส่วนของอุดมศึกษา ควรให้อิสระมหาวิทยาลัย ไม่ใช่มาควบคุมมากเกินไป จนทำให้มหาวิทยาลัยออกแบบการเรียนการสอนไม่ถูก เพราะถูกบล็อกด้วยกฎหมาย อย่างเช่น การเปิดหลักสูตร ก็ถูกบล็อกด้วย จำนวนอาจารย์ประจำหลักสูตร เป็นต้น
ที่มา : มติชน วันที่ วันที่ 4 ธันวาคม 2562