ประกาศ สพฐ. เรื่อง แนวปฏิบัติการใช้ข้อสอบแบบเขียนตอบใน การวัดและประเมินผล คุณภาพผู้เรียน ให้เพิ่มการใช้ข้อสอบแบบเขียนตอบ ทั้งการเขียนตอบแบบสั้นและแบบยาวเมื่อจบหน่วยการเรียน ในการสอบ ระหว่างภาคเรียนและในการสอบปลายภาค อย่างน้อยร้อยละ ๓๐ ของการสอบแต่ละครั้ง
ตามที่ สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีประกาศ เรื่อง แนวปฏิบัติ ในการยกระดับคุณภาพผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๗ ข้อที่ ๗ ให้เพิ่มการใช้ข้อสอบแบบเขียนตอบ ทั้งการเขียนตอบแบบสั้นและแบบยาวเมื่อจบหน่วยการเรียน ในการสอบ ระหว่างภาคเรียนและในการสอบปลายภาค อย่างน้อยร้อยละ ๓๐ ของการสอบแต่ละครั้ง ดังนั้น เพื่อให้การดําเนินงานเกี่ยวกับการใช้ข้อสอบแบบเขียนตอบ ในการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับทางวิชาการ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงกําหนดแนวปฏิบัติการใช้ข้อสอบแบบเขียนตอบในการวัด และประเมินคุณภาพผู้เรียน ระดับสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา ดังนี้
๑. ระดับสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา
๑. ชี้แจงประชาสัมพันธ์สถานศึกษาเกี่ยวกับประกาศสํานักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อง แนวปฏิบัติการใช้ข้อสอบแบบเขียนตอบในการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียน
๒. ช่วยเหลือ สนับสนุนให้สถานศึกษาสร้างข้อสอบแบบเขียนตอบในการประเมินผล สัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การอบรม เชิงปฏิบัติการ การชี้แจงให้ความรู้ การทําเอกสารสื่อนิเทศ การนิเทศ เป็นต้น
๓. พัฒนาคลังข้อสอบตามมาตรฐานและตัวชี้วัดของหลักสูตร ทั้งเครื่องมือประเมิน ภาคความรู้ในลักษณะของข้อสอบแบบเลือกตอบ และข้อสอบแบบเขียนตอบ ให้บริการแก่สถานศึกษา ที่ไม่สามารถสร้างเครื่องมือเองได้
๔. กํากันและติดตามการใช้ข้อสอบแบบเขียนตอบในการวัดและประเมินคุณภาพ ผู้เรียนของสถานศึกษาตามประกาศแนวปฏิบัติ ฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีความเป็นมาตรฐานและน่าเชื่อถือ
๕. สรุปและรายงานผลการดําเนินงานเกี่ยวกับการใช้ข้อสอบแบบเขียนตอบ ในการประเมินคุณภาพผู้เรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ให้แก่หน่วยงานต้นสังกัดและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนําข้อมูลไปใช้ในการยกระดับคุณภาพผู้เรียน
๒. ระดับสถานศึกษา
๑. กําหนดแผนผังในการออกข้อสอบ (Test Blueprint) ในการทดสอบท้ายหน่วย การเรียนรู้ การสอบระหว่างภาคเรียน และการสอบปลายภาคเรียน โดยให้มีข้อสอบทั้งข้อสอบ แบบเลือกตอบและข้อสอบแบบเขียนตอบ อย่างน้อยในสัดส่วนคะแนนร้อยละ ๗๐ : ๓๐ ของคะแนนเต็ม ในการสอบแต่ละครั้ง
๒. กําหนดให้มีการใช้ข้อสอบแบบเขียนตอบในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ทั้งในรูปแบบข้อสอบเขียนตอบแบบจํากัดคําตอบ (Restricted response Questions) และข้อสอบเขียนตอบ แบบไม่จํากัดคําตอบ (Extended Response Questions) โดยสัดส่วนของข้อสอบแบบเขียนตอบ ให้คํานึงถึงระดับชั้นของผู้เรียน เช่น ผู้เรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้นให้เน้นที่ข้อสอบแบบเขียนตอบ แบบจํากัดคําตอบ ส่วนผู้เรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษา ให้เน้นข้อสอบเขียนตอบ แบบไม่จํากัดคําตอบ เป็นต้น โดยเป็นข้อคําถามที่เปิดโอกาสให้ผู้ตอบคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตัดสินใจ และ คิดสร้างสรรค์อย่างอิสระ และเขียนได้อย่างกว้างขวางตามแนวคิด เหตุผล และหลักการของผู้ตอบ และไม่มี การจํากัดขอบเขตของคําตอบ
๓. ให้ใช้ข้อสอบแบบเขียนตอบที่เน้นวัดทักษะการคิดขั้นสูง ที่ประกอบด้วย สถานการณ์ที่ให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ มีข้อคําถามที่ยั่วยุให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตัดสินใจ และ คิดสร้างสรรค์ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเขียนแสดงเหตุผล แนวคิด หรือหลักการตามความเหมาะสมในแต่ละ ระดับชั้น
๔. วิเคราะห์ผลการตอบข้อคําถามที่เป็นข้อสอบแบบเขียนตอบในแต่ละข้อ ของผู้เรียนแต่ละคน เพื่อวินิจฉัยข้อบกพร่องในการเรียนรู้ของผู้เรียนแล้วนําไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนา ความรู้ความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน
๕. กํากับ และติดตามการใช้ข้อสอบแบบเขียนตอบในการวัดและประเมินคุณภาพ ผู้เรียนตามแนวปฏิบัติฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีความเป็นมาตรฐานและน่าเชื่อถือ
๖. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครูผู้สอนพัฒนาข้อสอบแบบเขียนตอบที่มีคุณภาพ ตามมาตรฐานวิชาการ เพื่อเก็บรวบรวมในรูปแบบของคลังข้อสอบไว้คอยให้บริการแก่บุคลากร ในสถานศึกษาและผู้ที่สนใจ
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๖๒ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓
ขอขอบคุณที่มา : กลุ่มประเมินคุณภาพการศึกษา สทศ.สพฐ.