พบเด็กพิเศษเหยื่อ ล่วงละเมิด ร้อยละ 10 กลั่นแกล้ง-บุลลี่ ร้อยละ 100 ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

พบเด็กพิเศษเหยื่อ ล่วงละเมิด ร้อยละ 10 กลั่นแกล้ง-บุลลี่ ร้อยละ 100 ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

พบเด็กพิเศษเหยื่อ ล่วงละเมิด ร้อยละ 10 กลั่นแกล้ง-บุลลี่ ร้อยละ 100 ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย
พบเด็กพิเศษเหยื่อ ล่วงละเมิด ร้อยละ 10 กลั่นแกล้ง-บุลลี่ ร้อยละ 100 ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

พญ.ชดาพิมพ์ บอกด้วยว่า เด็กพิเศษเกือบทุกคนที่มาพบแพทย์จะใช้โซเชียลมีเดีย เนื่องจากบางคนเขียนหนังสือไม่คล่อง สื่อสารได้ไม่ดี จะอาศัยการเปิดเฟซบุ๊ก ยูทูป เพื่อดูคลิป ฟังเพลง ดูการ์ตูน และสื่อต่างๆ ในยูทูปที่สามารถเข้าถึงได้ หรือกรณีตัวเด็กมีปัญหาการเข้าสังคมกับเพื่อนวัยเดียวกัน แต่เมื่ออยู่ในโซเชียลมีเดียจะได้เป็นตัวของตัวเอง เป็นบุคคลเสมือนที่สามารถพูดคุยกับกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเหมือนกัน เช่น กลุ่มเล่นเกม ที่ได้ความสนุก ตื่นเต้น รู้สึกเป็นผู้ชนะ และมีการยอมรับ ขณะที่ในชีวิตจริงไม่มีสิ่งเหล่านี้ 
     
“จริงๆ โซเชียลมีเดียมีส่วนช่วยให้เด็กพิเศษรู้สึกมีตัวตน เป็นพื้นที่ผ่อนคลายที่สามารถยืนอยู่ได้อย่างที่อยากจะเป็น แต่บางครั้งมีสิ่งที่เป็นอันตรายแฝงเข้ามา อย่างเช่น การซื้อขายสินค้า หรือการชักจูงไปทำสิ่งที่นอกเหนือสายตาผู้ใหญ่ ส่วนหนึ่งที่จะเป็นอันตรายแก่เด็กอย่างมากคือการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นคำพูด หรือการถูกชักจูงออกไปเจอกันข้างนอก หรือแม้แต่การพูดคุยในเรื่องที่ส่อทางเพศ ซึ่งหากเป็นเด็กปกติจะสามารถรู้เท่าทันได้ แต่เด็กพิเศษจะถูกชักจูงได้ง่าย เนื่องจากสติปัญญาที่ไม่สามารถคิดแก้ไขปัญหาหรือช่วยเหลือตัวเองได้ ที่สำคัญเด็กพิเศษบางคนเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นก็มีความต้องการทางเพศ ทำให้ถูกชักจูงไปในเรื่องทางเพศได้ง่ายเช่นกัน” พญ.ชดาพิมพ์ กล่าว 
     
ด้วยเหตุนี้ สถาบันราชานุกูล และ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) จึงจับมือเดินหน้าโครงการผลิตสื่อมัลติมีเดียผ่านคลิปวิดีโอ “โลกละเมิดออนไลน์กับเด็กพิเศษ ตอนที่ 1-3”  ซึ่งเผยแพร่ทางยูทูป Rajanukul Channel หวังใช้สร้างการรับรู้ถึงรูปแบบภัยอันตรายทางเพศที่มากับสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กพิเศษที่สามารถดูแลตนเองได้ ให้เข้าใจความซับซ้อนของสื่อ และเกิดเป็นการระมัดระวังตัวเอง โดยเน้นย้ำในสิ่งที่เด็กต้องฝึกทำคือการปิดบทสนทนาที่ล่อแหลม ทักษะการปฏิเสธ และการรีบบอกผู้ใหญ่ 
          
ส่วนกลุ่มเด็กที่สื่อสารยังไม่ได้ หรือมีปัญหาเรื่องความเข้าใจนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ต้องมีบทบาทในการที่จะป้องกันและช่วยเหลือเด็ก โดยต้องมีความตระหนักรู้ถึงภัย กระตือรือร้นสอดส่องการใช้มือถือ และสื่อต่างๆ ของเด็ก หากพบที่ไม่เหมาะสมให้ทำการบล็อก และคัดกรองเว็บไซต์รวมถึงช่องยูทูป
    
“การใช้โซเชียลมีเดียของเด็กพิเศษจะไม่มีความเสี่ยง หากให้ลูกใช้งานแล้วพ่อแม่คอยติดตามการใช้ของลูก นั่งดูไปกับลูกชวนคุย ทำตัวเป็นเพื่อน ลูกก็จะไม่เป็นอันตราย” จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันราชานุกูล ระบุ

อย่างไรก็ตาม การถูกล่วงละเมิดทางเพศของเด็กพิเศษ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในโซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่ยังมีความเสี่ยงจากคนใกล้ชิด ทั้งคนในบ้าน แถวบ้าน หรือในชุมชนที่คิดว่าไว้ใจได้อีกด้วย โดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้คนใกล้ชิดควบคุมตัวเองได้น้อยลง 

“เมื่อคนใกล้ชิดเจอเด็กพิเศษที่อยู่ในบ้านและไม่ได้ระวังตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าต้องระวัง บ้านที่ควรจะเป็นสถานที่ปลอดภัย จึงกลายเป็นพื้นที่ล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งมีเคสแบบนี้ไม่น้อยทีเดียว จึงอยากให้พ่อแม่ป้องกันตั้งแต่เริ่มต้นด้วยการให้ทุกอย่างอยู่ในสายตา สอดส่องดูแลลูกให้มากขึ้นทั้งการใช้สื่อและดำเนินชีวิตประจำวัน” พญ.ชดาพิมพ์ อธิบายเพิ่ม

นอกจากนี้ เด็กพิเศษยังเผชิญกับการถูกบูลลี ทั้งในโลกความจริงและในโลกเสมือนอย่างโซเซียลด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการ จนสามารถดูแลตัวเองและใช้ชีวิตประจำวันปกติ มีหน้าตาปกติ ทำให้คนภายนอกมองไม่ออกว่าเป็นเด็กพิเศษ ดังนั้นเมื่อเด็กโวยวายหรือมีพฤติกรรมแปลกออกไป จากการแปลความหมายของคนอื่นหรือสถานการณ์ที่ซับซ้อนไม่ออก มักจะมีคนถ่ายคลิปวิดีโอแล้วนำไปลงในโซเชียลมีเดีย จนเกิดการแชร์ในวงกว้าง และเสนอภาพดังกล่าวซ้ำๆ จนเกิดกระแสดรามา ในขณะที่เด็กพิเศษในฐานะผู้เสียหายไม่สามารถปกป้องตัวเองได้เลย 

พญ.ชดาพิมพ์ ฝากแง่คิดเพิ่มให้กับพ่อแม่และผู้ปกครองของเด็กพิเศษว่า สิ่งที่จะช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้ คือการเตรียมใจเขา ให้เข้าใจว่าเก่งแล้วที่เข้าสังคมได้ แต่ยังมีความซับซ้อนของสังคมที่ต้องระวัง ค่อยๆ เรียนรู้ หากไม่แน่ใจอย่าเพิ่งตัดสิน หาคนที่ไว้ใจคุยด้วย และไม่ว่าเจอกับสถานการณ์อะไรก็ยังมีคนให้คำปรึกษา เพราะสุดท้ายแล้วเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ทั้งหมด
     
“เด็กพิเศษถูกล่วงละเมิดมากโดยที่ไม่รู้ เพราะว่าเด็กบอกไม่ได้ สื่อสารยาก หากประเมินใน 10 คนจะมี 1 คน ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนกรณีกลั่นแกล้งและถูกบูลลีโดนกันทุกคนเรียกว่าร้อยละ 100 ซึ่งหากพบเห็นเด็กพิเศษถูกกระทำ สามารถแจ้งที่ศูนย์ประชาบดี โทร 1300 สายด่วน 24 ชั่วโมง จะมีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาช่วยดูแล หรือมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี” พญ.ชดาพิมพ์ กล่าว
    
ด้าน นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการ มสช. กล่าวว่า  ปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชนกับสื่อออนไลน์ปกตินับว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่อยู่แล้ว และยังขาดกลไกในการแก้ไข พอยิ่งเป็นกรณีเด็กพิเศษกับภัยจากสื่อออนไลน์ ความเปราะบางก็ยิ่งทวีคูณ ด้วยเพราะสติปัญญาและลักษณะทางกายภาพที่บกพร่อง ไม่สามารถจัดการอะไรเทียบเท่ากับเด็กปกติได้ จุดนี้เป็นสิ่งที่ มสช.มองเห็น และอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนแก้ปัญหา 
    
“ทุกวันนี้เราพบว่าเด็กพิเศษเลยถูกกระทำเยอะ ผ่านการเป็นข่าวและไม่เป็นข่าว แน่นอนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบทางจิตใจของเด็กเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้ง คุกคาม การละเมิดทางเพศผ่านช่องทางออนไลน์ พ่อแม่เองบางครั้งก็ยังไม่รู้ว่าลูกถูกทำร้าย หรือถ้ารู้ส่วนมาก็เป็นตอนปลายเหตุแล้ว อีกทั้งขณะนี้ยังไม่มีองค์กรใดเข้ามาดูแลทั้งระบบ มสช.จึงพยายามคลี่ปัญหา และวางแนวทาง การแก้ไขปัญหาของเด็กแต่ละกลุ่ม แต่ละพื้นที่ แต่ละปัญหาเฉพาะ ปัญหาเร่งด่วน ว่าทางออกนั้นควรเป็นอย่างไร และใครควรเป็นเจ้าภาพ เบื้องต้นได้ลงไปประสานกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือแก้ไขอย่างทันท่วงที และวางแผนแก้ไขในระยะยาวร่วมกันอีกครั้ง” ผู้จัดการโครงการ มสช. ระบุ.

ขอบคุณที่มาและรายละเอียดเพิ่มเติม : เว็บไซต์ประชาไท 7 พฤศจิกายน 2563
 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่