มาแล้ว รร.แม่เหล็กเฟสแรก ปลัดศธ.เผย ปรับปรุง รร. ไม่มีเด็กเป็นบ้านพักครู-ทดลองใช้รถเมล์เก่า รับส่งนักเรียน

มาแล้ว รร.แม่เหล็กเฟสแรก ปลัดศธ.เผย ปรับปรุง รร. ไม่มีเด็กเป็นบ้านพักครู-ทดลองใช้รถเมล์เก่า รับส่งนักเรียน

ตามที่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) พร้อมด้วยผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงศึกษาธิการลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยได้มีการหารือร่วมกับนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดภูเก็ต และข้าราชการศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจังหวัดภูเก็ต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 14 เกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยโดยมีเป้าหมายเพื่อให้จังหวัดภูเก็ต เป็นโมเดลการดำเนินงานของทุกจังหวัดทั่วประเทศนั้น

ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การลงพื้นที่ดังกล่าว เป็นการลงไปเก็บข้อมูลเชิงลึกเพื่อทำโมเดลการยกระดับคุณภาพการศึกษาของจังหวัด โดยการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีความพร้อมให้เป็นโรงเรียนที่มีศักยภาพและคุณภาพมากขึ้น เพื่อดึงเด็กจากโรงเรียนในกลุ่มให้มาเรียน โดยไม่ได้มีเป้าหมายในการควบรวมหรือยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก แต่เป็นการพัฒนาโรงเรียนในกลุ่มด้วยการเพิ่มเติมทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ เช่น ห้องเรียน ห้องแลป โรงยิม สระว่ายน้ำ เป็นต้น

ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ขนาดไม่ใหญ่มาก มีโรงเรียนประถมศึกษาประมาณ 40 กว่าโรงที่ต้องเข้าไปบริหารจัดการ โดยโรงเรียนไหนที่จำเป็นต้องสแตนอโลนก็จะปล่อยให้อยู่ต่อไป ทั้งนี้จากข้อมูลที่ได้ เบื้องต้นสามารถจัดกลุ่มโรงเรียนได้แล้วประมาณ 4-5 กลุ่ม ซึ่งระยะทางระหว่างโรงเรียนในกลุ่มจะห่างกันประมาณ 2- 6 กิโลเมตร ไกลสุดไม่เกิน 10 กิโลเมตร โดยหลักการของการบริหารจัดการ คือ จะมีการเติมทรัพยากรลงไปที่โรงเรียนที่ถูกเลือกให้เป็นโรงเรียนแม่เหล็ก เมื่อโรงเรียนแม่เหล็กมีความพร้อมมีศักยภาพและคุณภาพมากขึ้น เด็ก ๆ ก็จะเข้าไปเรียนเพิ่มขึ้นเอง โดยไม่บังคับว่าต้องย้ายไป ขณะที่โรงเรียนอื่น ๆ เมื่อไม่มีเด็กก็จะฝ่อไปโดยปริยายซึ่งอาจจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ส่วนโรงเรียนเมื่อไม่มีเด็กแล้วก็มีข้อเสนอในการใช้ประโยชน์ว่า อาจจะปรับปรุงให้เป็นบ้านพักครู หรือเป็นศูนย์สำหรับดูแลผู้สูงอายุ หรือ ศูนย์การเรียนของ กศน. เป็นต้น

“ในการหารือได้มีการพูดถึงการดูแลเรื่องการเดินทางของนักเรียนด้วย เรื่องนี้ผมได้ประสานกับทาง ขสมก.เพื่อขอรถเมล์ปรับอากาศที่ปลดระวางแล้วมาให้ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ช่วยปรับปรุง ซ่อมแซม สำหรับนำมาใช้รับส่งนักเรียน ซึ่งเบื้องต้นทราบว่า ขสมก.กำลังจะปลดระวางรถเมล์ที่อายุประมาณ 20 ปี จำนวนกว่า 800 คัน ผมจึงขอมาทดลองนำร่องก่อน 5 คัน”ปลัด ศธ.กล่าวและว่า เป้าหมายการบริหารจัดการโรงเรียนจะต้องเริ่มให้ได้ภายในปีการศึกษา 2564 โดยจะพยายามให้ได้อย่างน้อยจังหวัดละ 1 กลุ่ม ซึ่งในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ตนจะเชิญศึกษาธิการจังหวัดหรือรองศึกษาธิการจังหวัดทุกจังหวัดมาหารือ เพื่อให้โจทย์กลับไปเตรียมข้อมูลโรงเรียนของแต่ละจังหวัดและเริ่มวางแผนดำเนินการต่อไป

ขอบคุณที่มาและอ่านต่อ : Facebook มองมุมใหม่ Five Focus

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่