วิสัยทัศน์ แนวทางและจุดเน้น ดร.อัมพร พินะสา เลขา กพฐ. “จะใช้พื้นที่เป็นฐานขับเคลื่อนคุณภาพ จะใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนความสำเร็จ”
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงแนวทางการทำงานในโอกาสเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ กพฐ. ในวันแรก ซึ่งเป็นทั้งวิสัยทัศน์ แนวทางและจุดเน้น คือ “จะใช้พื้นที่เป็นฐานขับเคลื่อนคุณภาพ จะใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนความสำเร็จ” สอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 อย่างยิ่ง
สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนตามวิสัยทัศน์นี้ และพร้อมสนับสนุนแนวทางการทำงานดังกล่าวอย่างเต็มกำลัง ซึ่งสาระสำคัญของแนวทางการทำงานของเลขาธิการ กพฐ. มีดังนี้
1. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นองค์กรที่สำคัญที่สุด ที่ทำหน้าที่สร้างพื้นฐานให้คน ให้ชาติ หากทำได้สำเร็จถือเป็นการช่วยชาติ ตระหนักดีว่า สพฐ.เป็นองค์กรที่ใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ ย่อมมีความเหลื่อมล้ำ มีบริบทที่ซับซ้อน มีความแตกต่างทางภาษา สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ฯลฯ
2. การศึกษา “ไม่ใช่อ่านตำรา แล้วกาถูก” คนเก่งที่สุดคือ เก่งทักษะชีวิต ทักษะการทำงาน และการแสวงหาความรู้เป็น ดังนั้น วุฒิการศึกษาและใบปริญญาไม่ใช่ความหมายแห่งความสำเร็จ
3. การทำงานการศึกษาทุกคนเป็นบุคคลสำคัญ เป็นกลไกขับเคลื่อนการศึกษา โดยมี “ห้องเรียนและโรงเรียน” เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างการเปลี่ยนแปลง
4. การศึกษาคือ บ่อเกิดของปัญญา การจัดการศึกษาย่อมมีปัญหา มีปัญหาจะทำให้ก่อเกิดปัญญา บุคคลสำคัญคือ ผู้อำนวยการโรงเรียนและครู
5. ทิศทางการทำงานจะไม่ตัดเสื้อตัวเดียวใส่ทั้งประเทศ เพราะต่างเขต ต่างพื้นที่ ไม่เหมือนกัน แต่ต้องมีเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องทำให้เด็กเก่ง ดี และมีความสุข บนความหลากหลายของแต่ละพื้นที่
6. “จะใช้พื้นที่เป็นฐานขับเคลื่อนคุณภาพ จะใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนความสำเร็จ” ต่างที่ ต่างนวัตกรรม และเชื่อมั่นว่าแต่ละคนแต่ละพื้นที่มีศักยภาพทำได้
7. บทบาทของ สพฐ. จะ “ปลดล็อก เปลี่ยนแปลง และเปิดกว้าง” สร้างงานเพื่อสร้างโอกาส คุณภาพ และประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
8. งานสำคัญเร่งด่วนคือ 1) ดูแลความปลอดภัยของนักเรียนและช่วยเหลือนักเรียนให้มีความสุขในการเรียนรู้ 2) สะสางงานที่เป็นงานโครงการซ้ำซ้อนในโรงเรียนและสร้างภาระให้กับโรงเรียน 3) เปลี่ยนแปลงหลักสูตรจากหลักสูตรอิงมาตรฐานเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ 4) หลอมรวมพลังทุกส่วนใน สพฐ. ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน มีทุกข์ร่วมทุกข์ มีสุขร่วมเสพ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเชิญชวนบุคลากรทุกระดับร่วมเป็นเจ้าภาพในการพัฒนาองค์กร สพฐ. ร่วมเสนอความคิดเห็น เสนอแนะและสร้างสรรค์ ให้ สพฐ. สามารถสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศให้จงได้
ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์ กลุ่มงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ