ศธ.เปิดแผนฉีดไฟเซอร์เด็ก 4.5 ล้านคน นำร่อง 29 จังหวัดสีแดงเข้ม

ศธ.เปิดแผนฉีดไฟเซอร์เด็ก 4.5 ล้านคน นำร่อง 29 จังหวัดสีแดงเข้ม

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดงานแถลงข่าวเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 โดย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ศธ. ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างใกล้ชิดและมีการถอดบทเรียนจากการจัดการเรียนการสอน 5 รูปแบบ หรือ 5 On ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางการเปิดภาคเรียนต่อไปให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

ซึ่งจากการหารือร่วมกันระหว่าง ศธ. กับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) เบื้องต้นมีแนวทางในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ได้แก่

ศธ.เปิดแผนฉีดไฟเซอร์เด็ก 4.5 ล้านคน นำร่อง 29 จังหวัดสีแดงเข้ม
ศธ.เปิดแผนฉีดไฟเซอร์เด็ก 4.5 ล้านคน นำร่อง 29 จังหวัดสีแดงเข้ม

1.แผนการฉีดวัคซีน Pfizer ให้กับนักเรียน

ที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เป็นประธาน ได้อนุมัติในหลักการให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี ทุกคน ทุกสังกัด กว่า 4.5 ล้านคน

ทั้งที่อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน กรุงเทพมหานคร ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 โดยจะฉีดให้แก่นักเรียน นักศึกษา ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จำนวน 29 จังหวัดก่อน

​ในส่วนของ ศธ.ได้วางแผนการดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียน นักศึกษาในสังกัดทั้งของรัฐและเอกชน ที่มีอายุ 12-18 ปี ซึ่งการฉีดวัคซีนให้เด็กจะเป็นไปตามความสมัครใจ ที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน

โดย ศธ. ได้กำหนดให้มีการสร้างความรับรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของการฉีดวัคซีน และวิธีการปฏิบัติก่อนและหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งจะเริ่มสร้างความเข้าใจในสัปดาห์นี้ หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการสอบถามความยินยอมให้เด็กเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กำหนดแบบฟอร์มยินยอมให้เด็กในปกครองฉีดวัคซีน และให้สถานศึกษานำส่งรายชื่อ และจำนวนนักเรียนที่ประสงค์จะฉีดวัคซีน เพื่อรวมรายชื่อทั้งในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และนอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ไว้ที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด จากนั้นจะมีการประชุมเพื่อสอบทานสรุปข้อมูลนักเรียนอายุ 12 – 18 ปีกับสาธารณสุขจังหวัด เพื่อวางแผนการฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายว่าจะเริ่มการฉีดวัคซีนให้ได้ในเดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จำนวน 29 จังหวัดก่อน แต่ตั้งเป้าหมายให้นักเรียน นักศึกษาทุกคน ได้รับวัคซีน Pfizer เข็มที่ 1 อย่างครบถ้วน และจะเร่งดำเนินการฉีดให้เร็วและครอบคลุมที่สุด เพื่อรับการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 ในเดือนพฤศจิกายนนี้

ศธ.เปิดแผนฉีดไฟเซอร์เด็ก 4.5 ล้านคน นำร่อง 29 จังหวัดสีแดงเข้ม 3

2.แผนการดำเนินโครงการโรงเรียน Sandbox Safety Zone in School (SSS)

เป็นมาตรการสำหรับโรงเรียนประจำ เช่น โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนเอกชนที่มีความพร้อม โดย ศธ.จะประสานกับ สธ.ในการลงพื้นที่ตรวจโรงเรียน ที่จะประสงค์เข้าโครงการว่าเป็นไปตามมาตรการที่วางไว้หรือไม่

ทั้งนี้การเป็นโรงเรียน SSS มีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1.เป็นโรงเรียนประจำ 2. เป็นไปตามความสมัครใจและ 3. ผ่านการประเมินความพร้อม

โดยต้องแจ้งความประสงค์ผ่านต้นสังกัด มีการหารือร่วมกับผู้ปกครองและผ่านความเห็นชอบ จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จัดให้มีสถานแยกกักตัวในโรงเรียน (School Isolation) จัดให้มี Safety Zone ในโรงเรียน มีการติดตามประเมินผลโดยทีมตรวจ ราชการของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข

รวมถึงมีการรายงานผล ผ่าน MOE COVID และ Thai Stop Covid Plus ซึ่งในข​ณะนี้ มีสถานศึกษาจำนวน 15,465 แห่ง ที่อยู่ในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด โดยใน 12 จังหวัด มีสถานศึกษาจำนวน 1,687 แห่ง ที่อยู่ในเขตพื้นที่ 45 อำเภอปลอดเชื้อ แบ่งเป็น สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 1,305 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 111 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 21 แห่ง และสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 250 แห่ง ซึ่ง ศธ.จะพิจารณาความพร้อมของสถานศึกษาสำหรับการเปิดภาคเรียนตามบริบทที่เหมาะสม

“ศธ.ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักเรียน นักศึกษา เป็นอันดับแรก โดยได้ปรึกษาและประสานงานกับ สธ.ให้เข้ามาช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด และการฉีดวัคซีนให้เด็กจะเป็นไปตามความสมัครใจ ที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน โดยกระทรวงฯ จะเร่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจ เกี่ยวกับประโยชน์ของการฉีดวัคซีน รวมถึงวิธีการปฏิบัติก่อนและหลังการฉีดวัคซีน สำหรับการฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ขณะนี้มีครูได้รับวัคซีนไปแล้วกว่า 70% โดยแผนการจัดสรรวัคซีนในเดือนตุลาคมนี้จะให้สถานศึกษาส่งรายชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ยัง ไม่ได้รับวัคซีนมาด้วย เพื่อเร่งจัดสรรวัคซีนให้กลุ่มครู”

ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 13 กันยายน 2564 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่