ศธ. เร่งขยายรร.โมเดล Active Learning กระจายทั่วภูมิภาค คาดทั่วประเทศมากกว่า 5,000 นวัตกรรม

ศธ. เร่งขยายรร.โมเดล Active Learning กระจายทั่วภูมิภาค คาดทั่วประเทศมากกว่า 5,000 นวัตกรรม

21ก.ย.64- ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) – นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมวิชาการและประกาศนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “ประกาศเดินหน้าพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน ก้าวข้ามสภาวะวิกฤตโควิด-19 แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดชั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps” ซึ่งมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วยผู้บริหาร ศธ.ร่วมงาน

ศธ. เร่งขยายรร.โมเดล Active Learning กระจายทั่วภูมิภาค คาดทั่วประเทศมากกว่า 5,000 นวัตกรรม
ศธ. เร่งขยายรร.โมเดล Active Learning กระจายทั่วภูมิภาค คาดทั่วประเทศมากกว่า 5,000 นวัตกรรม

โดยนายวิษณุ กล่าวว่า เนื้อหาของการจัดงานในครั้งนี้มีความยิ่งใหญ่มาก และในอนาคตจะต้องมีนิทรรศการเรื่อง Active Learning แบบสัญจรทุกภูมิภาค เพราะเรื่องนี้คือจุดเริ่มต้นของการก้าวเดินแบบพลิกโฉมการศึกษาไทย เพราะทุกวิชากลุ่มสาระการเรียนรู้สามารถบูรณาการด้วยการสอนแบบ Active Learning ได้ เนื่องจากเป็นการสร้างนวัตกรรมของครูสู่นักเรียน เพื่อทำให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบรู้ลึก รู้จริง และรู้นาน ซึ่งควรจะมุ่งเน้นการสอนในรูปแบบนี้ตั้งแต่การศึกษาระดับปฐมวัยไปจนถึงอุดมศึกษา เนื่องจากรูปแบบ Active Learning ถือเป็น New normal ของการศึกษา ที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายบิ๊กล็อกปฏิรูปการศึกษา โดยที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการเรียนกาสอนรูปแบบนี้เป็นอย่างมาก และอยากให้มีการเรียนรู้อย่างกว้างขวางมากขึ้นด้วย

ด้านนางสาวตรีนุช กล่าวว่า เพื่อเป็นโมเดลในการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและในราชกิจจานุเบกษาที่กำหนดให้แก้ปัญหาด้านการศึกษาด้วยวิธีปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และกำหนดให้ปรับกระบวนการเรียนการสอนในหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based curriculum) ในปัจจุบัน ให้ไปสู่การพัฒนาสมรรถนะในยุคใหม่ (Competency-based Learning) โดยศธ. ได้ดำเนินการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ด้วยการพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการพัฒนาการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ในลักษณะของการเรียน “วิธีเรียนรู้ (How to learn)” ที่ผู้เรียนสามารถนำไปเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง ผ่านการรวบรวมข้อมูล (Gathering) การจัดข้อมูลให้เกิดความหมายผ่านการคิดวิเคราะห์ เพิ่มคุณค่า คุณธรรม ค่านิยม ออกแบบสร้างสรรค์ สร้างทางเลือก ตัดสินใจเลือกเป้าหมายแนวทางที่นำไปสู่ความสำเร็จ (Processing) วางแผนลงมือทำ ตรวจสอบแก้ปัญหา พัฒนาไปสู่ระดับนวัตกรรม (Applying 1) โดยผู้เรียนสามารถสรุปเป็นความรู้ระดับต่าง ๆ จนถึงระดับหลักการ สามารถนำเสนอได้อย่างมีแบบแผน (Applying 2) และประเมินภาพรวมเพื่อกำกับความคิดและขยายค่านิยมสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมให้กว้างขวางขึ้น (Self-Regulating) ซึ่งการเรียนรู้ในลักษณะนี้ สามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน และทางออนไลน์ เพื่อเข้ากับบริบทของผู้เรียนอย่างเหมาะสม

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่เป็นจุดเด่นของกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว คือ การที่ผู้เรียนนำเอากระบวนการสร้างความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งในชีวิตประจำวันและการเรียนเรียนรู้ในสถานศึกษา โดยผู้เรียนสามารถสร้างนวัตกรรมได้และยังให้เด็กได้เรียนรู้แบบปฏิบัติการเชิงวิจัยนำไปเชื่อมโยงกับชุมชนท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน เด็กแต่ละคนจะสามารถออกไอเดียในการยกระดับคุณภาพชีวิต ครอบคลุมการดำเนินชีวิตในด้านต่าง ๆ รวมถึงการประกอบอาชีพในอนาคต ทั้งในเชิงพาณิชย์ เชิงอุตสาหกรรม เชิงบริการ และอื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย นับว่าเป็นการจัดการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง และขณะนี้มีโรงเรียนต้นแบบรวม 30 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก 10 โรงเรียน โรงเรียนขนาดกลาง 10 โรงเรียน และโรงเรียนขนาดใหญ่ 10 โรงเรียน พบว่า ประสบผลสำเร็จและเกิดผลงานจากการปฏิบัติ เป็นนวัตกรรมทั้งของครูและนักเรียนจำนวนมากกว่า 1,500 นวัตกรรม และมีความคาดหวังว่าจะเกิดนวัตกรรมในปีการศึกษาต่อไปจำนวนกว่า 5,000 นวัตกรรม

“จากความสำเร็จดังกล่าว ศธ.จะเร่งขยายผลให้มีโรงเรียนต้นแบบในทุกภูมิภาคให้ทั่วประเทศโดยเร็ว และเร่งขยายผลให้ครอบคลุมทุกสถานศึกษา เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และปฏิบัติตามนโยบายปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน” รมว.ศธ. กล่าว

ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 22 กันยายน 2564

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่