สพฐ. พร้อมเปิดห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ ตั้งเป้าจบ ม.6 ต้องผ่านเกณฑ์ B2 พูดอังกฤษกับต่างชาติได้

สพฐ. พร้อมเปิดห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ ตั้งเป้าจบ ม.6 ต้องผ่านเกณฑ์ B2 พูดอังกฤษกับต่างชาติได้

ทั้งเดินหน้าวางกรอบหลักสูตรขั้นพื้นฐานใหม่ ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับของสูงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าการเปิดห้องเรียนพิเศษที่มุ่งเน้นไปที่ห้องเรียนภาษาอังกฤษ

สพฐ. พร้อมเปิดห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ ตั้งเป้าจบ ม.6 ต้องผ่านเกณฑ์ B2 พูดอังกฤษกับต่างชาติได้ 2

ซึ่งที่ผ่านมาได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสถาบันภาษาอังกฤษ สพฐ. ปรับหลักเกณฑ์ประกาศกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการเปิดห้องเรียนภาษาอังกฤษ เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษทั้งระบบ ให้โรงเรียนมีความคล่องตัวในการขอเปิดห้องเรียนภาษาอังกฤษได้มากขึ้น คาดว่าจะเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้และจะประกาศให้โรงเรียนที่มีความพร้อมเปิดได้ในปีการศึกษาหน้า

ทั้งนี้ จะไม่กระทบกับแผนการรับนักเรียนของโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงที่ได้ประกาศไปแล้ว แต่เป็นโรงเรียนทั่วไประดับอำเภอหรือจังหวัด เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีความสามารถและศักยภาพเรื่องภาษาอังกฤษได้ตามเป้าหมายที่คาดหวัง คือ เมื่อนักเรียนจบชั้น ม.6 จะต้องได้คะแนนจากการทดสอบภาษาอังกฤษกรอบมาตรฐานความสามารถทางภาษาอังกฤษที่เป็นสากล (Common European Framework of Reference for Languages) หรือ CEFR ระดับ B2 และสามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้

“สำหรับครูที่จะมาสอนภาษาอังกฤษในห้องเรียนพิเศษนี้ มีได้ทั้งครูไทยและต่างชาติ ขณะนี้ จะเน้นที่ครูต่างชาติโดยเฉพาะระดับปฐมวัย ซึ่งที่ประชุมก็ได้มีการหารือว่า ครูต่างชาติที่มีอยู่แล้วในขณะนี้เพียงพอหรือไม่ เรื่องนี้มี 2 แนวทาง คือ โรงเรียนจัดหาเอง หรือ อาจจะขอให้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) หารือกับทูตต่างประเทศ เพื่อจัดหาครูมาช่วยสอน เช่น ครูจากประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายก็จะเปิดให้โรงเรียนสามารถระดมทรัพยากรได้ หรือ ในปี 2563 สพฐ. อาจสนับสนุนงบประมาณบางส่วน และขอตั้งงบประมาณในปี 2564 เพื่อเติมเต็มต่อไป” ดร.อำนาจกล่าว

นอกจากนั้น เลขาธิการ กพฐ. ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ ซึ่งคณะกรรมการการจะหารือกันในวันที่ 6-8 ธันวาคม 2562 เพื่อกำหนดกรอบและแนวทางการจัดทำหลักสูตรใหม่ ดูข้อดี ข้อเสีย ทั้งการจัดทำหลักสูตรแบบกลุ่มสาระวิชา หรือการจัดทำหลักสูตรที่ไม่เน้นตามกลุ่มสาระ แต่เน้นสมรรถนะทางการเรียนรู้ของเด็กเป็นสำคัญ โดยการปรับหลักสูตรครั้งนี้ รมว.ศธ. ให้ความสำคัญอย่างมาก ขณะที่ สพฐ. ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ร่วมกับ กพฐ. ด้วย ส่วนการใช้หลักสูตรนั้นจะมี 3 ระยะ คือ ปีการศึกษา 2563 เริ่มในโรงเรียนที่มีความพร้อมและสมัครใจจะนำไปใช้บางห้อง บางวิชา ส่วนปีการศึกษา 2564 ใช้บางโรงเรียน ใช้ทุกวิชา ทุกชั้น ช่วงชั้น และในปีการศึกษา 2565 ใช้เต็มรูปแบบ

ที่มา : แฟนเพจ ประชาสัมพันธ์ สพฐ.

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่