สพฐ. แจงเลื่อนสอบปลายภาค ให้โรงเรียนใช้ดุลยพินิจตามเหมาะสม

สพฐ. แจงเลื่อนสอบปลายภาค ให้โรงเรียนใช้ดุลยพินิจตามเหมาะสม โรงเรียนสามารถกำหนดวันสอบปลายภาคของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นวันอื่นโดยไม่ให้ตรงกับวันที่ 20-23 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่ทำการสอบ GAT-PAT ได้เลย โดยไม่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานต้นสังกัด

สพฐ. แจงเลื่อนสอบปลายภาค ให้โรงเรียนใช้ดุลยพินิจตามเหมาะสม
สพฐ. แจงเลื่อนสอบปลายภาค ให้โรงเรียนใช้ดุลยพินิจตามเหมาะสม

วันที่ 3 มีนาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีเสียงสะท้อนบนสื่อสังคมออนไลน์ เรื่องวันสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาหรือ TCAS ตรงกับวันสำคัญอื่นที่กำหนดไว้ อาทิ การสอบ GAT-PAT ในวันที่ 20-23 มีนาคม 2564 ตรงกับวันสอบปลายภาคของโรงเรียน วันสอบ 9 วิชาสามัญ วันที่ 3-4 เมษายน 2564 และวันสอบ O-NET วันที่ 27-28 มีนาคม 2564 ตรงกับวันเกณฑ์ทหารและวันเลือกตั้งท้องถิ่น อีกทั้งการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้นักเรียนได้รับเนื้อหาวิชาไม่เต็มที่ หากไม่พิจารณาเลื่อนวันสอบ อาจเป็นการตัดโอกาสนักเรียนที่ต้องเข้าสอบคัดเลือกเป็นจำนวนมาก ในส่วนของ สพฐ. ขอชี้แจงดังนี้

สำหรับการสอบ GAT-PAT ที่ตรงกับวันสอบปลายภาคของโรงเรียนนั้น สพฐ. ขอเรียนว่า การกำหนดวันสอบปลายภาคเป็นอำนาจหน้าที่ของโรงเรียน ดังนั้นทางโรงเรียนสามารถกำหนดวันสอบปลายภาคของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นวันอื่นโดยไม่ให้ตรงกับวันที่ 20-23 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่ทำการสอบ GAT-PAT ได้เลย โดยไม่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานต้นสังกัด ขณะที่วันสอบ O-NET ที่ตรงกับวันเลือกตั้งท้องถิ่น ในวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2564 นั้น สพฐ. ได้ประสานไปยังสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และได้เสนอให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ทำการเลื่อนวันสอบเป็นวันอื่น เพื่อให้นักเรียนได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งท้องถิ่น และสามารถเข้าทำการทดสอบ O-NET ได้ด้วย โดยจะต้องทำการประสานกับโรงเรียนที่เป็นสนามสอบล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับการจัดการเรียนการสอนปกติของโรงเรียนที่เป็นสนามสอบ

“ส่วนกรณีการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้นักเรียนได้รับเนื้อหาวิชาไม่เต็มที่ หากไม่พิจารณาเลื่อนวันสอบ อาจเป็นการตัดโอกาสนักเรียนที่ต้องเข้าสอบคัดเลือกเป็นจำนวนมาก ในเรื่องนี้ สพฐ. ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับโรงเรียนแล้วว่าต้องเลือกใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายให้เหมาะสมกับสภาพบริบทของโรงเรียนและสภาพความพร้อมของผู้เรียน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ ทักษะ กระบวนการ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนให้ครอบคลุมมาตรฐานและตัวชี้วัดที่สำคัญตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างแท้จริง ถึงแม้ไม่ได้จัดการเรียนการสอนตามปกติก็ตาม ซึ่งหากมีการเลื่อนสอบ อาจส่งผลกระทบต่อกำหนดการคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย (TCAS) อีกด้วย” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ขอบคุณที่มาและอ่านต่อ : Facebook ประชาสัมพันธ์ สพฐ.

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่