สภาเด็กและเยาวชน จี้ ศธ.ลงโทษผู้บริหารโรงเรียนบีบเด็กท้องให้ลาออก เมื่อวันที่ 15 ม.ค.  ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 ตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และตัวแทนจากเครือข่ายผู้ปกครองยื่นหนังสือถึงนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เรื่องห้ามสถานศึกษาบีบบังคับนักเรียน/นิสิตนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ออกจากสถานศึกษา และให้มีมาตรการลงโทษหากฝ่าฝืน โดยมีนายธีร์ ภวังคนันท์ รักษาการ ผอ.สำนักอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มารับหนังสือ

นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา รองผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์  กล่าวว่า ตั้งแต่มี พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 มีนักเรียน/นักศึกษาปรึกษาเรื่องที่ถูกสถานศึกษาบังคับให้ออกจากสถานศึกษาด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า  10 ราย มูลนิธิฯ จึงตัดสินใจเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนโดยผ่านสายด่วน 1663 และภาคีภาคประชาสังคมในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งพบว่าจากการเปิดสายด่วน 1663 มีผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมมาปรึกษาเฉลี่ยปีละประมาณ 30,000 ราย และ 30% เป็นวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ดังนั้น ศธ.เป็น 1 ใน 6 กระทรวงหลัก ที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้กำหนดหน้าที่และบทบาทสำคัญไว้ โดยกฎกระทรวงของ ศธ.กำหนดไว้อย่างชัดเจนในข้อ 7 เกี่ยวกับนักเรียนนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ในสถานศึกษาว่า ต้องไม่ให้นักเรียนนักศึกษาออกจากสถานศึกษาดังกล่าว แต่จากการเปิดบริการของสายด่วน 1663  ที่ให้คำปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อมมาอย่างต่อเนื่อง มีนักเรียน/นักศึกษาปรึกษาเรื่องถูกบังคับให้ออกจากสถานศึกษาด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 10  ราย โดยมีเหตุผลหลักอยู่ 2  ข้อ คือ 1.นักเรียน/นักศึกษาผิดกฎสถานศึกษา และ 2.ประพฤติตัวทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของโรงเรียน

“การที่ผู้บริหารสถานศึกษาบังคับให้เด็กออกจากสถานศึกษาหรือให้ย้ายสถานศึกษาโดยผู้เรียนไม่ได้สมัครใจ ส่งผลให้เกิดความทุกข์ต่อนักเรียนและครอบครัวอย่างมาก เป็นการสร้างวิกฤติ ซ้ำเติมให้กับนักเรียนมากกว่าการช่วยเหลือและแก้ไขให้เด็กที่พลาดมีโอกาสเดินหน้าต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง และถือเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายอย่างชัดเจน” รองผู้อำนวยการมูลนิธิฯ กล่าวและว่า เนื่องในโอกาสวันครูที่จะถึงนี้ ขอให้ทาง ศธ.แจ้งไปยังสถานศึกษาทุกแห่งให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 อย่างจริงจัง และหากมีสถานศึกษาใดไม่ปฏิบัติหรือหลีกเลี่ยง ใช้วิธีการทั้งทางตรงและทางอ้อมในการบีบบังคับให้นักเรียน นิสิตนักศึกษาต้องออกจากสถานศึกษาหรือย้ายสถานศึกษาอันเนื่องจากการตั้งครรภ์ โดยไม่ได้เป็นไปตามความสมัครใจของนักเรียนและครอบครัว ให้มีมาตรการในการลงโทษผู้บริหารสถานศึกษาอย่างเด็ดขาด ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณว่า ศธ.ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นตาม พ.ร.บ.และกฎกระทรวงอย่างจริงจัง

ด้านนายธีร์ กล่าวว่า ศธ.มีศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(ฉก.ชน.สพฐ.) เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่แล้ว และได้มีการทำงานร่วมกับทางมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีปัญหาเรื่องการประสานงานร่วมกัน เพราะทางสพฐ.มีข้อมูลส่วนหนึ่ง และทางมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สายด่วนฯมีข้อมูลส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้นำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนร่วมกัน ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาสพฐ.จะรับรู้ในส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งหากทางมูลนิธิเข้าถึงเอดส์  สายด่วนฯมีข้อมูลขอให้แจ้งมายังสพฐ. เพื่อจะได้ช่วยเหลือเด็ก ดูแล ให้เป็นไปตามมาตรการที่สพฐ.วางไว้

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าว เดลินิวส์ 15 มกราคม 2563

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่