หนุนเรียน-สอนออนไลน์ เชื่อวิกฤตโควิด-19 ดันการศึกษาตามอัธยาศัยขยายตัว
ห่วงแค่ไม่มีวินัย “สุภัทร จำปาทอง”หนุนเรียน-สอนออนไลน์ เชื่อวิกฤตโควิด-19 ดันการศึกษาตามอัธยาศัยขยายตัว เป็นห่วงแค่เรื่องความมีวินัยของผู้เรียน
เดลินิวส์ออนไลน์ : เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า เนื่องจากตั้งแต่ช่วงปลายปี2562 ถึงต้นปี 2563 เป็นต้นมา ประเทศไทยเริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าโควิด-19 และปัจจุบันการแพร่ระบาดมีการขยายวงกว้างขึ้น ประชาชนมีความใส่ใจเรื่องของสุขอนามัยมากขึ้น คนทำงานมีการปรับตัวเรื่องการทำงาน มีการเหลื่อมเวลาการทำงาน ปรับวิธีการทำงานมากขึ้น และจากภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบกับระบบการศึกษาซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการรวมตัวกันค่อนข้างมากด้วย
อย่างไรก็ตามถึงแม้ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และ มีนาคม สถานศึกษาจะทยอยปิดภาคเรียนกันแล้ว แต่สถานศึกษาบางระดับยังคงเปิดเรียนอยู่ และมีการสอนซัมเมอร์หรือภาคฤดูร้อน ขณะที่บางกลุ่มโดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติ และระดับอุดมศึกษาที่จัดการเรียนการสอนระบบสากลซึ่งยังคงเปิดภาคเรียนอยู่ ก็ต้องหยุดการเรียนการสอนหรือปิดภาคเรียนไปก่อน
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้สถานศึกษาทุกระดับต้องปรับวิธีการจัดการเรียนการสอน หันมาให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะที่สั่งหยุดการเรียนการสอนไปก่อน โดยมีทั้งการเรียนการสอนแบบสดที่ผู้เรียนและผู้สอนจะนัดเวลากันเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตซึ่งสามารถโต้ตอบกันระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนได้ และการสอนแบบแห้งที่มีการจัดตำราและสื่อให้แล้วรอดูเทปหรือทีวีแต่สื่อสารระหว่างกันแบบทันทีไม่ได้ ซึ่งความตื่นตัวนี้ถือเป็นการใช้สถานการณ์วิกฤตในการปรับตัวของระบบการศึกษา
“ที่ผ่านมาสถานศึกษามีการจัดการศึกษาแบบออนไลน์กันด้วยรูปแบบและโปรแกรมหรือ ซอฟท์แวร์ที่หลากหลาย เช่น การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ซึ่งใช้กับโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ที่พื้นที่ห่างไกล ซึ่งผลที่ออกมาก็ค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ สามารถช่วยให้คะแนนโอเน็ตเพิ่มขึ้นได้
ขณะที่ระดับอุดมศึกษาก็มีการใช้โปรแกรมที่หลากหลายมาก และ ที่คิดว่าน่าสนใจมาก คือหากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ดีขึ้นการจัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบการศึกษาตามอัธยาศัยน่าจะมีเพิ่มขึ้นแน่นอนในทุกระดับ ซึ่งทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)น่าจะมีส่วนสนับสนุนการจัดสรรช่องทางในการจัดการเรียนการสอนให้ได้
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ค่อนข้างกังวล คือ เรื่องการปรับตัว การวัดผลประเมินผลและความมีวินัยของผู้เรียน แต่ก็เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติและการยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเกิดขึ้น”ดร.สุภัทร กล่าว
ที่มาของข่าว : เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 23 มีนาคม 2563