อัดแก้หนี้ครูเหลว !!! เพราะรัฐขาดความจริงใจ เสนอ 2 แนวทาง แก้ปัญหา

อัดแก้หนี้ครูเหลว !!! เพราะรัฐขาดความจริงใจ เสนอ 2 แนวทาง แก้ปัญหาหนี้สินครู

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่หอประชุมคุรุสภา คณะอนุกรรมาธิการพิจรณาหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ได้เชิญประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกว่า 108 แห่งทั่วประเทศ ร่วมประชุม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างเป็นระบบ ทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยั่งยืนโดย ดร.ปรีดา บุญเพลิง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครู สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หลังจากคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ศึกษา สำรวจและออกรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนครู ผู้นำองค์กรวิชชีพครู เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตครู ชมรมข้าราชการครูบำนาญ ตัวแทนสถาบันการเงินและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั่วประเทศมาระยะหนึ่ง ทั้งนี้สามารถสรุปเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา ได้ 2 แนวทาง คือ ระยะเร่งด่วน และระยะยั่งยืน จึงจำเป็นต้องนำมาพูดคุยและหารือกับกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศซึ่งถือว่าเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของครู

ดร.ปรีดา กล่าวอีกว่า สำหรับการหารือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วทั้งประเทศทำให้ได้รับความคิดเห็น ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไข ความเป็นไปได้และที่มีประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างเป็นระบบจากประธานและผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทุกแห่ง โดยประเด็นที่น่าสนใจ คือ รัฐต้องมีความจริงใจที่จะแก้ไข จัดหาแหล่งทุนที่มีดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งต้องมีการรวมหนี้สินครูไว้ที่เดียว มีสวัสดิการที่ดีในการดูแลช่วยเหลือครู มีการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขหนี้สินครู และมีมาตรการควบคุมวินัยการใช้จ่ายเงินของสมาชิกที่เข้าโครงการอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต้องมีการกำกับ ติดตาม ประเมินผลการดำรงชีวิตที่ดี อย่างต่อเนื่อง และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศเห็นด้วย พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการฯ จะได้นำผลการประชุมสัมมนาวันนี้ไปสรุปและเสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ พิจารณา เพื่อสรุปเป็นแนวทางแก้ไขหนี้สินครูอย่างเป็นระบบ ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไปโดยเร็วที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศในครั้งนี้ มีตัวแทนจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต่าง ๆ ได้ลุกขึ้นอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูมีมายาวนานแต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ เพราะขาดความจริงใจจากรัฐบาล และไม่ควรใช้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เป็นหน่วยงานในการแก้ไขปัญหานี้ เนื่องจาก สกสค.ไม่มีเม็ดเงินที่จะเข้ามาดำเนินการได้โดยตรง แต่ควรให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของครูเป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้นการที่คณะอนุกรรมาธิการฯเข้ามาพูดคุยและดึงสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเข้ามาร่วมระดมความคิดในการแก้ไขปัญหาจึงเป็นเรื่องที่ดี และถือว่ามาถูกทางสู่ความสำเร็จ.

ขอบคุณที่มา : Facebook เพจ At_HeaR ข่าวจริงเข้าหู

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่