อาชีวศึกษาพร้อมสอนออนไลน์ทั่วประเทศ เตรียมจัดการศึกษา 4 รูปแบบรับเปิดเทอม 2563

อาชีวศึกษาพร้อมสอนออนไลน์ทั่วประเทศ เตรียมจัดการศึกษา 4 รูปแบบรับเปิดเทอม 2563

เมื่อวันที่ 16 เม.ย. นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการจัดการเรียนของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ปีการศึกษา 2563 ว่า ขณะนี้ได้เตรียมการไว้ทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) และปริญญาตรี โดยแบ่งเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้

1. การจัดการศึกษาผ่านเอกสาร โดยให้ครูทำการสอนผ่านตำราเรียน หนังสือเรียนต่างๆ เป็นรูปแบบที่ไม่ต้องเตรียมเพิ่มเติมมาก

2. การจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ทั้งนี้ ด้านการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนอาจแบ่งเป็นกลุ่มย่อยที่มีจำนวนคนไม่มาก สลับกันมาเรียน และใช้ช่องทางสื่อสาร ผ่านเครือข่ายออนไลน์ เป็นต้น รวมถึงการให้ครูไปพบผู้เรียนที่บ้านบ้างตามความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา

3.การจัดการศึกษาแบบเฉพาะตามศักยภาพของสถานศึกษาแต่ละแห่ง เนื่องจากสถานศึกษาทั้งของรัฐบาลและเอกชน มีความพร้อมที่แตกต่างกัน โดยสถานศึกษาบางแห่งมีระบบการเรียนการสอนออนไลน์ใช้อยู่แล้ว ก็สามารถดำเนินการต่อเนื่องได้ทันที ตลอดจนสามารถแบ่งปันให้สถานศึกษาอื่นมาใช้งานร่วมกันได้ตามความเหมาะสม

4. การจัดการศึกษาผ่านรูปแบบการ Live ผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ผ่านมาอาชีวศึกษายังขาดแคลนครูหลายสาขา เช่น สาขาช่างอากาศยาน ซึ่งต้องจ้างวิทยากรจากภายนอกมาสอน ดังนั้นจึงจะใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์โดยถ่ายทอดการสอนของวิทยากรในสาขาที่ขาดแคลนให้ผู้เรียนจากวิทยาลัยอื่นได้เรียนไปพร้อมกัน

“ แม้การเรียนภาคทฤษฎีจะไม่สามารถเปิดทำการสอนตามปกติได้ แต่ในส่วนของห้องปฏิบัติการสามารถจัดระเบียบการเข้าใช้ได้ตามปกติ โดยอาจจะแบ่งให้กลุ่มผู้เรียนมีจำนวนน้อยลง และเข้าเรียนตามรอบเวลา ให้สอดคล้องกับจำนวนผู้เรียนและความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา ผมยืนยันว่า สถานศึกษาสังกัด สอศ.มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์”นายณรงค์ กล่าว

ทั้งนี้ สอศ.ได้เตรียมความพร้อมครูให้พร้อมสอนออนไลน์ ช่วงระหว่างก่อนเปิดภาคเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นี้ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พัฒนาครูอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ใน 2 เรื่อง คือ การพัฒนาครูให้คุ้นเคยกับเครื่องมือและเทคโนโลยีการสอนออนไลน์ และ การพัฒนาให้ครูใช้วิธีสอนผ่านเครื่องมือและเทคโนลีอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเบื้องต้นกำหนดการพัฒนาครูของภาครัฐ จำนวน 30,000 คน และภาคเอกชน จำนวน 10,000 คน เพื่อให้ครูกลุ่มนี้เป็นครูพี่เลี้ยงแล้วถ่ายทอดความรู้ไปยังครูเครือข่ายอาชีวศึกษาทุกคนต่อไป

ขอบคุณที่มาและอ่านต่อที่ : https://dailynews.co.th/education/769358

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่