เล็งผุดหลักสูตรออนไลน์ "วิชายุทธศาสตร์ชาติ" เจาะกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา

เล็งผุดหลักสูตรออนไลน์ “วิชายุทธศาสตร์ชาติ” เจาะกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา เร่งสร้างการตระหนักรู้ให้กับข้าราชการทุกระดับต่อไป เพื่อให้การแปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติและสามารถเป็นไปได้อย่างบูรณาการ

เล็งผุดหลักสูตรออนไลน์ "วิชายุทธศาสตร์ชาติ" เจาะกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา
เล็งผุดหลักสูตรออนไลน์ “วิชายุทธศาสตร์ชาติ” เจาะกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา

วันนี้ (9 พฤศจิกายน) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 3/2563 ร่วมกับ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดย อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยผลการประชุมดังนี้

1. การเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โดยเห็นชอบให้แต่งตั้ง ทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และอดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อรับตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน

2. ความก้าวหน้าการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศผ่านระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) โดยได้สั่งการเพิ่มเติมให้หน่วยงานดำเนินการรายงานผลการดำเนินการโครงการ/การดำเนินงาน และนำเข้าแผนระดับที่ 3 เข้าในระบบ eMENSCR ตามที่ระเบียบว่าด้วยการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2562 กำหนดเพื่อเป็นช่องทางให้ภาคประชาชนและภาคีการพัฒนามีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบการดำเนินการภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

3. การจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เพื่อเป็นกลไกเชิงนโยบายในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างบูรณาการและเป็นรูปธรรม โดยใช้ข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) เป็นข้อมูลหลักในการดำเนินการ เนื่องจากระบบ TPMAP เป็นเครื่องมือเชิงนโยบายแรกของประเทศที่สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาได้ทั้งในครัวเรือนและบุคคล โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการเชิงพื้นที่ ครอบคลุมทุกกลุ่มเปราะบาง ทั้งเกษตรกร ผู้เคยต้องรับโทษ ผู้มีหนี้สิน ผู้ที่ทำงานอยู่นอกภูมิลำเนา ทั้งนี้ให้นำกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับบริบทและขีดความสามารถของประเทศไทย เพื่อความคุ้มค่าของการใช้เงินงบประมาณของประเทศต่อไป

4. หลักสูตรยุทธศาสตร์ชาติ ให้มีการขยายผลการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Massive Open Online Course: MOOCs) วิชายุทธศาสตร์ชาติสำหรับกลุ่มเป้าหมายนักเรียน นิสิตนักศึกษา นอกจากนี้ต้องเร่งสร้างการตระหนักรู้ให้กับข้าราชการทุกระดับต่อไป เพื่อให้การแปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติและสามารถเป็นไปได้อย่างบูรณาการต่อไป

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญจำนวน 3 เรื่อง ดังนี้.

1. (ร่าง) แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) คณะกรรมการฯ เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ทั้ง 13 ด้าน ได้แก่ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข สื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ สังคม พลังงาน การป้องกันและปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบ การศึกษา วัฒนธรรม กีฬา แรงงานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีเป้าหมายเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ มีกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) รวม 62 กิจกรรม และมีกฎหมายที่ต้องจัดทำหรือปรับปรุงแก้ไขจำนวน 45 ฉบับ

โดยได้สั่งการเพิ่มเติมให้สรุปผลความสำเร็จของแผนในช่วงที่แผนมาเพื่อให้เห็นถึงความก้าวหน้าและประเด็นที่ควรให้ความสำคัญในการปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้คณะกรรมการฯ เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานระยะต่อไปหลังจากที่ได้มีการประกาศใช้แล้ว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานกิจกรรมตามแผนการปฏิรูปเดิมคู่ขนานไปกับกิจกรรม Big Rock และสื่อสารสร้างความเข้าใจกิจกรรม Big Rock เพื่อถ่ายทอดสู่หน่วยปฏิบัติ โดยให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการที่ระบุระยะเวลาและวิธีการดำเนินการที่ชัดเจน รวมทั้งให้มีการกำหนดกรอบงบประมาณเป็นการเฉพาะเพื่อนำไปสู่การจัดทำโครงการที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายตามผลอันพึงประสงค์ที่กำหนด

2. ร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565 (ฉบับสมบูรณ์) คณะกรรมการฯ เห็นชอบร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ซึ่งมีแนวคิด ‘ล้มแล้วลุกไว’ หรือ Resilience โดยกำหนดเป้าหมายเพื่อให้คนสามารถยังชีพอยู่ได้ มีงานทำ กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ และมีการวางรากฐาน เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยมี 3 มิติการพัฒนา ได้แก่ การพร้อมรับ (Cope) การปรับตัว (Adapt) และการเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโตอย่างยั่งยืน (Transform) เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาประเทศต่อไป ซึ่งจะทำให้ประเทศมีการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนภายใต้หลัก 3 ขั้นการพัฒนา ได้แก่ Survival (การอยู่รอด) Sufficiency (พอเพียง) และ Sustainability (ยั่งยืน) ประเด็นการพัฒนาประกอบด้วย 4 ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในระยะ 2 ปีข้างหน้า ได้แก่

– การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) ลดความเสี่ยงในการพึ่งพาต่างประเทศ

– การยกระดับขีดความสามารถของประเทศ รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth) ส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการที่มีโอกาสและศักยภาพภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงและบริบทโลกใหม่

– การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ (Human Capital) เพื่อการยกระดับและปรับทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงานและโครงสร้างเศรษฐกิจ พร้อมเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤต

– การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) ให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพของประเทศ ทั้งนี้แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ (ฉบับสมบูรณ์) เป็นแผนระดับที่ 2 ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 โดยเป็นฉบับเพิ่มเติมจากแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 23 ประเด็น ดังนั้นเพื่อให้การแปลงร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ (ฉบับสมบูรณ์) ไปสู่การปฏิบัติ สามารถดำเนินการบูรณาการและสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คณะกรรมการฯ จึงได้เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการจัดทำโครงการ/การดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2465 เพิ่มเติมจากโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 รวมทั้งให้สำนักงบประมาณใช้เป็นกรอบจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 ร่วมกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 23 ประเด็นในปัจจุบัน

3. แนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน… เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการฯ เห็นชอบแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการด้าน… ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ เพื่อเป็นการแปลงยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่ 2 ไปสู่การปฏิบัติ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นชอบให้ สศช. เสนอ (ร่าง) แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565 (ฉบับสมบูรณ์) และแนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน… เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ https://thestandard.co/#ยุทธศาสตร์ชาติ#TheStandardNews

ติดตามข่าวธุรกิจ เศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุน โดยทีมข่าว THE STANDARD ได้ที่ THE STANDARD WEALTH

ขอบคุณที่มาและติดตามเพจ : Facebook THE STANDARD วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่