เอกชัย ยืนยัน 1 มิถุนายนนี้ สามารถเปิดเรียนได้ 100% ในพื้นที่ไม่มีการระบาดของโรค

เอกชัย ยืนยัน 1 มิถุนายนนี้ สามารถเปิดเรียนได้ 100% ในพื้นที่ไม่มีการระบาดของโรค

วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 5/2564 ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในการประชุม เพื่อหารือข้อราชการและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของ สพฐ. โดยมีหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจ อาทิ การประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกสถานที่ (กพฐ. สัญจร) ความก้าวหน้าการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน การรับนักเรียนสังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2564 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมถึงร่างกฎกระทรวง การจัดตั้ง ยุบ รวม เลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และการรวม/การเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น

นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธาน กพฐ. ได้กล่าวภายหลังการประชุมว่า วันนี้ในที่ประชุมได้พูดคุยกันถึงเรื่องการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่จะให้มีการพัฒนาครูควบคู่ไปกับการพัฒนาหลักสูตร โดยปรับวิธีการสอนที่เน้นสมรรถนะของนักเรียน ซึ่งครูสามารถทำได้เลยไม่จำเป็นต้องรอหลักสูตรให้แล้วเสร็จ อีกทั้งโรงเรียนควรมีกิจกรรมที่พัฒนาสมรรถนะและเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนด้วย นอกจากนั้นยังได้หารือถึงการรับนักเรียนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยืนยันว่ายังคงเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ โดยพื้นที่ใดที่ไม่มีการระบาดของโรค สามารถเปิดเรียนได้ 100% ส่วนในพื้นที่ที่ยังมีการระบาด ให้ศบค.ของจังหวัดนั้นๆ เป็นผู้พิจารณา

พร้อมกันนี้ สพฐ. ยังได้เพิ่มเติมแนวปฏิบัติการรับสมัครนักเรียน การจับฉลาก การสอบคัดเลือก การรายงานตัวและการมอบตัว ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยในส่วนของการจับฉลาก ให้ผู้ปกครองเป็นผู้จับฉลาก โดยไม่ต้องนำนักเรียนมาจับฉลาก เพื่อลดความหนาแน่นและการรวมกลุ่มกัน โดยให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1.5 เมตร อีกทั้งวิธีการจับฉลาก ให้ถือหลักการหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน โดยจัดสถานที่สำหรับผู้เข้าจับฉลาก ชุดละ 20 คน ให้นั่งเว้นระยะห่าง 1.5 เมตร เพื่อรอเรียกเข้าจับฉลาก และให้โรงเรียนจัดผู้เข้าจับฉลาก ครั้งละ 20 คน โดยจัดเป็นช่วงเวลา ช่วงละ 30 นาที เมื่อดำเนินการจับฉลากเรียบร้อยแล้ว ให้เดินทางกลับทันที และเรียกให้ชุดต่อไปเข้าจับฉลากจนครบตามจำนวนผู้เข้าจับฉลาก โดยในช่วงเวลาก่อนเข้าห้องจับฉลากและช่วงเวลาที่ดำเนินการจับฉลากเสร็จสิ้นแล้ว ไม่ให้มีการรวมตัวหรือรวมกลุ่มกันของผู้ปกครอง ทั้งภายในโรงเรียนและภายนอกโรงเรียน

“ขณะที่การดำเนินการในวันสอบ ให้จัดห้องสอบแต่ละห้องมีนักเรียนไม่เกิน 20 คน เว้นระยะห่าง 1.5 เมตร มีห้องสอบแยกสำหรับเด็กที่มีไข้/ไม่สบาย พร้อมทั้งดำเนินการสอบให้แล้วเสร็จภายในครึ่งวัน (เวลา 09.00-12.00 น.) เท่านั้น โดยโรงเรียนกำหนดวิชาและเวลาสอบในแต่ละวิชาตามบริบทของโรงเรียน ทั้งนี้ ให้โรงเรียนขอความร่วมมือผู้ปกครองมาส่งและมารับเพียงคนเดียว กรณีโรงเรียนมีพื้นที่คับแคบ ไม่อนุญาตให้พักคอย หากมีพื้นที่ที่สามารถจัดที่พักคอยได้ ผู้ปกครองต้องผ่านการคัดกรองและพักคอย ณ จุดที่โรงเรียนกำหนด โดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1.5 เมตร และในช่วงเวลาก่อนเข้าห้องสอบและช่วงเวลาที่ดำเนินการสอบเสร็จสิ้นแล้ว ไม่ให้มีการรวมตัวหรือรวมกลุ่มกันของผู้ปกครองและนักเรียน ทั้งภายในโรงเรียนและภายนอกโรงเรียน” ประธาน กพฐ. กล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่