ดาวน์โหลดเอกสาร แนวทางการขับเคลื่อนการศึกษายกกำลังสอง ปีงบประมาณ 2564
โดย : ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นายสุภัทร จำปาทอง) และเอกสารประกอบการประชุมผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการสัญจร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ มุมมองสู่การปฏิบัติ: การศึกษายกกำลังสอง ในวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๓ ณ ห้องประชุมบัวแสด วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี
ปลัด ศธ.ได้กล่าวถึงสถานการณ์การจัดการศึกษาและความคาดหวัง โดยสื่อให้เห็นถึงข้อมูลสถิติด้านต่าง ๆ ที่มีผลต่อการจัดการศึกษา เช่น จำนวนและแนวโน้มการเกิดของประชากรไทย จำนวนโรงเรียนของไทย (29,433 โรงเรียน) นักเรียน (6,581,843 คน) ครู (3.73 แสนคน) และห้องเรียน (3.4 แสนห้องเรียน) ความมีอิสระในการจัดการศึกษา
ที่สำคัญ การจัดการเรียนการสอน ต้องสอดคล้องกับความต้องการของตลาดงาน กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก คำนึงถึงการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา ที่ไม่จำกัดระยะเวลาในการเรียนตามหลักสูตรระดับปริญญาตรี-โท-เอก เหมือนเดิมอีกต่อไป เพื่อต้องการให้คนเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย
ศธ.จึงได้ปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษาสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ โดยคำนึงถึงทักษะหลักของพลโลกในศตวรรษที่ 21
ความสำคัญของยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อต้องการเปลี่ยนระบบการศึกษา ที่นำไปสู่ ”ระบบนิเวศ” ทางการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ โดยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนนักเรียน ครู ห้องเรียน สื่อการเรียนรู้ และโรงเรียน เพื่อยกกำลังสองไปพร้อมกันทั้งระบบ
- นักเรียนยกกำลังสอง จะต้องเปลี่ยนจากการเรียนเพื่อสอบ ไปสู่เรียนเพื่อรู้ ให้เด็กอยากที่จะเรียนรู้ เรียนเพื่ออยากเรียน มีการฝึกฝนเพื่อทำ สร้างทักษะอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น ภาษาที่ 2-3 และยกระดับทักษะชีวิต สร้างความสามารถของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 เป็นต้น
- ครูยกกำลังสอง เมื่อต้องการให้เด็กเก่ง ก็ต้องมีระบบสร้างครูที่เก่ง มีระบบที่ให้คนเก่งเข้ามาเป็นครู ให้อาชีพครูเป็นอาชีพในฝัน #เก่งเป็นครู โดยออกแบบโมเดลอาชีพครูให้เป็นความใฝ่ฝันของนักเรียนนักศึกษา
- ห้องเรียนยกกำลังสอง จากการเรียนที่โรงเรียน ไปสู่การเรียนที่บ้านถามที่โรงเรียน (ห้องเรียนกลับด้าน) โดยให้ผู้เรียนหาความรู้ที่บ้าน เพิ่มความรู้เสริมทักษะที่โรงเรียน (ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้) ทำหลักสูตรให้ยืดหยุ่น
- สื่อการเรียนรู้ยกกำลังสอง เรียนจากตำรา สู่การเรียนผ่านสื่อแบบผสมผสาน (การเรียนรู้ออกแบบได้) เรียนที่ไหนก็ได้ที่มีอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์
- โรงเรียนยกกำลังสอง เน้นการประเมินโรงเรียนจากจำนวนนักเรียน ไปสู่คุณภาพ ตอบโจทย์ความรู้และทักษะที่เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ตามบริบท ความเป็นเลิศทางวิชาการ และความเป็นเลิศทางภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งวิสาหกิจชุมชน
ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์ ศธ360องศา