ตัวอย่าง 10 กิจกรรมการเรียนรู้ทางไกลที่ไม่ต้องง้ออินเทอร์เน็ต
คุณครูจะทำอย่างไรถ้ามีนักเรียนของเราบางคนที่มีอุปกรณ์ (อาจจะเป็นของที่บ้าน หรือยืมมาจากโรงเรียนก็ตาม) แต่อินเทอร์เน็ตยังไม่เสถียรหรือจำกัด หรือมีนักเรียนบางคนที่ไม่มีทั้งอุปกรณ์หรืออินเทอร์เน็ตเลย
Matt Miller จากกลุ่ม Ditch That Workbook หรือ “ทิ้งหนังสือเรียนไปซะ” กล่าวว่าหากเราจะไปใช้แพลตฟอร์มออนไลน์กันหมดโดยที่ไม่ได้เตรียมหรือสำรวจความพร้อมด้านเทคโนโลยีของนักเรียนก่อน ย่อมไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่เท่าเทียมกันได้ จึงชี้ชวนให้มองกลับไปหาหนังสือเรียนในฐานะ “แหล่งข้อมูล” ในการคิดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ และน่าจะตอบโจทย์กับปัญหาที่เกิดขึ้นมากที่สุด ทั้ง 10 กิจกรรมง่าย ๆ ที่เขาเสนอประกอบไปด้วย
1. อ่านหนังสือ
นอกจากจะได้พัฒนาคลังคำศัพท์ การอ่านเอาความ ความคล่องแคล่วทางภาษา และยังเป็นการพัฒนาความรู้รอบตัวด้วย ความท้าทายคือคุณครูควรทำให้นักเรียนทุกคนเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่มีประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
2. สอนคนรอบข้าง
นักเรียนแต่ละคนเรียนอะไรมามากมายทั้งในและนอกห้องเรียน การที่ได้แบ่งปันสิ่งที่ตนเองรู้ให้คนอื่นรู้ด้วย ก็เป็นการทบทวนสิ่งที่ตัวเองรู้และเข้าใจมาก่อน ทำให้ความรู้นั้นคงทนมากขึ้น
3. ทำโครงงานจากสิ่งที่ชอบ (passion project)
คุณครูรู้ไหมว่านักเรียนแต่ละคนชอบและสนใจอะไรบ้าง ถ้าคุณครูมองเห็นสิ่งเหล่านี้ ลองช่วยให้เขาเห็นสิ่งเหล่านี้ด้วย ให้นักเรียนลองวางแผน และลงมือทำอย่างเอาจริงเอาจัง ย่อมทำให้เขาสามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ได้
4. เรียนรู้ทักษะใหม่
กิจกรรมนี้คล้ายกับการทำโครงงานข้อ 3. ที่จะต้องเกิดผลลัพธ์เป็นบางสิ่งออกมา แต่การเรียนรู้ทักษะใหม่จะได้ทักษะติดตัวที่สามารถใช้ได้ตลอด เช่น การเล่นดนตรี การเรียนภาษา การเล่นกีฬา หรืออื่น ๆ ที่ต้องอาศัยการฝึกฝน และการทำซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง
5. สัมภาษณ์
เป็นกิจกรรมที่สามารถใช้ได้ไม่ว่านักเรียนจะอยู่ที่ไหน และยังสามารถสร้างบทสนทนาที่เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิต ความสำเร็จ ความชอบ หรือความสนใจของคนคนหนึ่งได้ เมื่อบทสนทนาจบลง คนถามก็ยังสามารถสะท้อนคิดเพื่อนำมาพัฒนาตนเองได้อีกด้วย
6. ทำในสิ่งที่ตนภูมิใจ
กิจกรรมนี้จะคล้ายกับข้อ 3. และ 4. อยู่มาก แต่จุดที่แตกต่างกันของมันคือ การให้เวลากับมัน มุ่งเน้นให้ทำออกมาให้ดีพอจนเรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำมันลงไป ซึ่งจะเป็นอะไรก็ได้ตามแต่ที่นักเรียนแต่ละคนต้องการ
7. ทบทวนสิ่งที่เรียนไปแล้ว
กิจกรรมนี้มีที่มาที่ไปคล้ายกับกิจกรรมที่ 2 และยังให้ผลลัพธ์ที่เหมือนกันคือช่วยให้จดจำเรื่องเหล่านั้นได้ดีขึ้น แต่วิธีการที่ใช้ต่างกัน โดยกิจกรรมนี้จะเอื้อให้คุณครูกำหนดหัวข้อที่นักเรียนทบทวนได้อย่างสร้างสรรค์ด้วยเครื่องมือที่หลากหลายได้ เช่น ทำเป็นลิสต์ วาดรูป หรืองานเขียน
8. สะท้อนคิด (reflect)
นอกจากการทบทวนแล้ว การสะท้อนคิดยังช่วยให้นักเรียนเชื่อมโยงตัวตนของนักเรียนเองเข้ากับสิ่งที่ได้เรียนรู้มาใหม่ เช่น มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง มีคำถามอะไรคาใจหรือไม่ ซึ่งต้องอาศัยการชี้แนะจากคุณครูค่อนข้างดี เพราะนักเรียนอาจจะไม่คุ้นเคยนัก
9. ออกกำลังกาย
มีงานวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการออกกำลังกายที่มีต่อสมรรถนะทางกายและการพัฒนากระบวนการคิดของสมอง โดยการออกกำลังกายจะช่วยให้ระบบการคิดของคนคล่องขึ้น และช่วยเตรียมสมองให้จดจ่อกับสิ่งที่จะทำต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม คุณครูควรหาวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน เพื่อให้ไม่เหนื่อยจนเกินไป
10. อยู่นิ่ง ๆ (be still)
ในที่นี้หมายถึงการสงบจิตสงบใจ เพื่อสร้างสมาธิ เนื่องจากชีวิตของเด็ก ๆ นั้นถูกเทคโนโลยีครอบครองเวลาไปมากแล้ว การพักสมองเสียบ้างจึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานของระบบการคิด แล้วพร้อมที่จะเรียนรู้
วิธีการเหล่านี้ แม้จะให้คะแนนยากไปสักหน่อย แต่ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียนแต่ละคนย่อมยิ่งใหญ่เหนือไปกว่าผลการเรียนและตอบโจทย์ความต้องการการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างแน่นอน
เรียบเรียงมาจาก:
Miller, M. (2020). 10 no-internet remote learning activities. https://ditchthattextbook.com/no-internet-remote-learning/
เรียบเรียงโดย
วรเชษฐ แซ่เจีย ผู้ช่วยวิจัยประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอบคุณที่มาของบทความดี ๆ : ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครุฯ จุฬาฯ