สสวท.ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศ อบรมทักษะครูในศตวรรษที่ 21 ผ่านออนไลน์

สสวท.ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศ อบรมทักษะครูในศตวรรษที่ 21 ผ่านออนไลน์

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศ ในการดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพครูให้มีสมรรถนะครูยุคใหม่สำหรับการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 ซึ่งโครงการนี้มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิทยาการคำนวณและออกแบบและเทคโนโลยี ที่เน้นสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ รวมถึงส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามแนวทางโครงการการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ครูและนักเรียนสำหรับการทดสอบ ปี 2564

เข้าอบรมครูทั่วประเทศที่นี่

ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการพัฒนาการเรียนรู้ มีเป้าหมายให้คนไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีทักษะที่จำเป็นของโลกศตวรรษที่ 21 มีความสามารถในการแก้ปัญหา ปรับตัว สื่อสาร และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิผล มีนิสัยใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต แต่ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ของคนไทยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ดังจะเห็นได้จากการผลการประเมินในโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) ของประเทศไทย อยู่ในระดับต่ำกว่าอีกหลายประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน ทั้งนี้เป็นผลมาจากการขาดปัจจัยสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนและครูที่มีคุณภาพยังกระจายไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ชาติจึงมุ่งเน้นในการเสริมสร้างและยกระดับการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายในช่วงปี พ.ศ. 2561 – 2565 ดังนี้

(1) คะแนน PISA ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ (คะแนนเฉลี่ย) 470 คะแนน

(2) อัตราความแตกต่างของคะแนน PISA ในแต่ละกลุ่มโรงเรียนลดลงร้อยละ 20

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มีจุดมุ่งหมายสูงสุดในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศ โดย สสวท. จะประสานความร่วมมือกับกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏใน 8 ภูมิภาค เพื่อเป็นแกนนำในการพัฒนาครูในทุกพื้นที่ของประเทศ ให้มีความพร้อมสู่การเป็นครูยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการออกแบบและเทคโนโลยี (Science, Mathematics, and Design & Technology) วิทยาการคำนวณและการเรียนรู้ดิจิทัล (Computing Science and Digital Literacy) และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามแนวทางของโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการศึกษา และการพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถกำกับการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเองได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแล้วก็ตาม

วัตถุประสงค์ของโครงการ

(1) เพื่อเพิ่มศักยภาพครูให้มีสมรรถนะของครูยุคใหม่ ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมต่อการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

(2) เพื่อขับเคลื่อนและผลักดัน หน่วยงานเครือข่ายและมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ของโรงเรียนในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ

(3) เพื่อเตรียมความพร้อมผู้เรียน ให้มีประสบการณ์และทักษะสำคัญที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมเข้าร่วมโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA)

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่