สพฐ.แจ้งแนวทางการปรับรูปแบบข้อสอบตามแนวการประเมิน PISA ในการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียนในสถานศึกษาทุกระดับชั้น
ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) มีข้อสั่งการจากการประชุมประสานภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ ๒๐/๒๕๖๗ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๗ เรื่อง การเตรียมการระยะยาวสู่การประเมิน PISA ซึ่งเป็นโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดย PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน ข้อสอบของ PISA ประเมินสมรรถนะที่เรียกว่า ความฉลาดรู้ (Literacy) ใน ๓ ด้าน ได้แก่ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (Reading Literacy) ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) นั้น
ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้จัดทำแนวทางการปรับรูปแบบข้อสอบตามแนวการประเมิน PISA ในการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียนในสถานศึกษาทุกระดับชั้น ทั้งข้อสอบแบบเลือกตอบและแบบเขียนตอบ ซึ่งเป็นข้อสอบที่มีสถานการณ์เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกการอ่าน คิดวิเคราะห์ขั้นสูงที่เหมาะสมตามช่วงวัยเด็ก ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา เพื่อเป็นการพัฒนาความฉลาดรู้ของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
๑. ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
๑.๑ ชี้แจงให้สถานศึกษาในสังกัดทราบ แนวทางการปรับรูปแบบข้อสอบตามแนวการประเมิน PISA ในการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียนในสถานศึกษาทุกระดับชั้น
๑.๒ ส่งเสริม สนับสนุนให้สถานศึกษาสร้างข้อสอบรูปแบบข้อสอบตามแนวการประเมิน PISAในการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียนในสถานศึกษาทุกระดับชั้น ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ทั้งข้อสอบแบบเลือกตอบและแบบเขียนตอบ ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติการ การชี้แจง ให้ความรู้การทำเอกสารสื่อนิเทศ การนิเทศ เป็นต้น
๑.๓ จัดหาและพัฒนาคลังข้อสอบรูปแบบข้อสอบตามแนวการประเมิน PISA ทั้งในลักษณะของข้อสอบแบบเลือกตอบ และแบบเขียนตอบ เพื่อให้บริการแก่สถานศึกษาที่ไม่สามารถสร้างเครื่องมือเองได้
๑.๔ กำกับและติดตามการดำเนินการตามแนวทางการปรับรูปแบบข้อสอบตามแนวการประเมิน PISA ในการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียนในสถานศึกษาทุกระดับชั้น ในการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความเป็นมาตรฐานและน่าเชื่อถือ
๑.๕ สรุปและรายงานผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้ข้อสอบแบบเลือกตอบ และเขียนตอบในการประเมินคุณภาพผู้เรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ทุกระดับชั้น ให้แก่หน่วยงานต้นสังกัดและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการยกระดับคุณภาพผู้เรียน ภาคเรียนละ ๑ ครั้ง
๑.๖ ให้ผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตอบแบบสำรวจเมื่อสิ้นสุดภาคเรียน(สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาละ ๑ คน เท่านั้น)
๒. ระดับสถานศึกษา
๒.๑ กำหนดแผนผังในการออกข้อสอบ (Test Blueprint) ในการทดสอบท้ายหน่วยการเรียนรู้การสอบระหว่างภาคเรียน และการสอบปลายภาคเรียน โดยให้มีข้อสอบทั้งข้อสอบแบบเลือกตอบและข้อสอบแบบเขียนตอบ รูปแบบข้อสอบตามแนวการประเมิน PSA ในการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียนในสถานศึกษาทุกระดับชั้น
๒.๒ กำหนดให้มีการใช้ข้อสอบแบบเลือกตอบ และแบบเขียนตอบ ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆที่เหมาะสมตามช่วงวัย ทั้งนี้ หากเป็นข้อสอบแบบเขียนตอบอาจใช้ข้อสอบในรูปแบบข้อสอบเขียนตอบแบบจำกัดคำตอบ(Restricted-response Questions) และข้อสอบเขียนตอบแบบไม่ จำกัดคำตอบ (Extended Response Questions)โดยให้คำนึงถึงระดับชั้นของผู้เรียน เช่น ผู้เรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น ให้เน้นที่ข้อสอบแบบเขียนตอบแบบจำกัดคำตอบ ส่วนผู้เรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาให้เน้นข้อสอบเขียนตอบแบบไม่จำกัดคำตอบเป็นต้น โดยเป็นข้อคำถามที่เปิดโอกาสให้ผู้ตอบคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตัดสินใจ และคิดสร้างสรรค์อย่างอิสระ เขียนได้อย่างกว้างขวางตามแนวคิด เหตุผล และหลักการของผู้ตอบ และไม่มีการจำกัดขอบเขตของคำตอบ
๒.๓ ให้ใช้ข้อสอบแบบเขียนตอบที่เน้นวัดทักษะการคิดขั้นสูง ที่ประกอบด้วยสถานการณ์โลกความจริง ที่ให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ มีข้อคำถามที่ยั่วยุให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตัดสินใจ และคิดสร้างสรรค์โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเขียนแสดงเหตุผล แนคิด หรือหลักการตามความเหมาะสมในแต่ละระดับชั้น
๒.๔ วิเคราะห์ผลการตอบข้อคำถามที่เป็นข้อสอบแบบเลือกตอบ และแบบเขียนตอบในแต่ละข้อของผู้เรียนแต่ละคน เพื่อวินิจฉัยข้อบกพร่องในการเรียนรู้ของผู้เรียนแล้วนำไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาความรู้ความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน โดยอาจจัดกิจกรรมเสริมเพื่อพัฒนาศักยภาพนักเรียนด้านการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน เช่น แนวการตั้งคำถามของข้อสอบ แนวการตอบคำถาม เกณฑ์การให้คะแนน เป็นต้น ซึ่งสถนศึกษาอาจจัดในช่วงก่อนเข้าเรียน พักกลางวัน หลังเลิกเรียน ตามความเหมาะสม
๒.๕ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครูผู้สอนพัฒาข้อสอบแบบเลือกตอบ และแบบเขียนตอบที่มีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาการ เพื่อเก็บรวบรวมในรูปแบบของคลังข้อสอบไว้ให้บริการแก่บุคลากรในสถานศึกษาและผู้ที่สนใจ
๒.๖ กำกับ และติดตามการใช้ข้อสอบ รูปแบบข้อสอบ ตามแนวการประเมิน PISA ในการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียน เพื่อให้มีความเป็นมาตรฐานและน่าเชื่อถือ
๒.๗ ให้ผู้แทนสถานศึกษาตอบแบบสำรวจเมื่อสิ้นสุดภาคเรียน (สถานศึกษาละ ๑ คนเท่านั้น)ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการและชี้แจงให้สถานศึกษาในสังกัดทราบ พร้อมทั้งตอบแบบสำรวจการปรับรูปแบบข้อสอบ ตาม QR Code ที่แนบมาพร้อมนี้
ขอบคุณที่มา : สทศ.สพฐ.