การเตรียมพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 โดย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

การเตรียมพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 โดย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นหมุดหมายสำคัญอีกวันหนึ่งของประเทศ ในการเปิดภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2564

ในความเป็นจริงการเปิดภาคเรียนได้ดำเนินการมาแล้วในภาคเรียนที่ 1 หากแต่รูปแบบการจัดการเรียนการสอน เน้นไปที่การเรียน ผ่านระบบ online หรืออาจมีวิธีการอื่นประกอบบ้าง เช่น on hand ครูนำเอกสารไปส่งให้กับผู้เรียนที่บ้าน on demand สำหรับนักเรียนที่มีความพร้อม เปิดคอมพิวเตอร์ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง on air เรียนจากโทรทัศน์ แต่ในขณะเดียวกันภาพโดยรวมส่วนใหญ่เป็นการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ผ่านเครื่องมือสื่อสาร และแอพพลิเคชั่นต่างๆเช่น Google classroom / Zoom /Microsoft Team เป็นต้น ปัญหาสำคัญคือการเรียนในระบบดังกล่าวสามารถให้ความรู้กับผู้เรียนได้เฉพาะส่วนที่เป็นความรู้เชิงวิชาการ หรือพุทธิศึกษาในขณะที่จริยศึกษา หัตถศึกษา หรือพลศึกษา ไม่มีโอกาสได้พัฒนาให้กับผู้เรียนเลย หรือหากเอาแนวคิดของ เพียเจต์ (Jean Piaget) มาเป็นตัวกำหนด ยิ่งตระหนักว่าการพัฒนาด้านสติปัญญาเท่านั้นที่ได้รับการดูแล หากในส่วนของพัฒนาการด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ และด้านสังคม กลับได้รับการพัฒนาน้อยมาก จนเป็นที่มาของความตระหนกในสังคมว่า อาจเป็นความถดถอยด้านคุณภาพทางการศึกษาของประเทศ

ในต่างประเทศ เกือบทุกประเทศก็ใช้ระบบการเรียนการสอนแบบเดียวกับในประเทศไทย เพียงแต่มีความต่างตามสถานการณ์และแนวคิดในการจัดการศึกษา อาทิ ประเทศจีนใช้ระบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ แต่มีกิจกรรมสำคัญที่ต้องทำร่วมกันเช่น ร้องเพลงชาติผ่านระบบออนไลน์ทุกเช้า มีชั่วโมงสำหรับให้ผู้บริหารการศึกษาของประเทศหรือ ครูใหญ่กล่าวปราศรัย หรือประชุมชี้เเจงครู และ นักเรียนเป็นระยะโดยไม่ปล่อยให้เพียงแค่ครูประจำชั้นหรือครูประจำวิชาสอนนักเรียนเพียงฝ่ายเดียว ประเทศสิงคโปร์ใช้ระบบการเรียนแบบ HBO หรือ Home Based Learning คือสลับนักเรียนมาเรียนชั้นละวัน เช่น ป.1 เรียนวันจันทร์ ป.2 เรียนวันอังคาร เป็นต้น อังกฤษ ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศในยุโรป อเมริกา หลายๆประเทศมีรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือพยายามหาวิธีให้นักเรียนได้กลับมาเรียนที่โรงเรียน โดยต้องให้ผู้เรียนปลอดภัย และได้ความรู้

เตรียมพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 โดย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เตรียมพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 โดย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

สำหรับประเทศไทย ถึงเวลาที่เด็กจะต้องไปเรียนที่โรงเรียน on-site เพื่อทำให้เด็ก ได้มีโอกาสรับการพัฒนาในทุกด้าน แม้ในภาคเรียนที่ 1 จะมีโรงเรียนจำนวนมากสามารถเปิดเรียนแบบ ออนไซต์ได้ แต่ก็เฉพาะในต่างจังหวัด พื้นที่ห่างไกลปลอดโควิด หรือเป็นโรงเรียนขนาดเล็กนักเรียน 60 คน หรือไม่เกิน 120 คน เป็นโรงเรียนที่มีพื้นที่กว้างขวาง แต่เมื่อจำเป็นต้องอยู่ในมาตรการการป้องกันของ ศบค. จังหวัด เมื่อสรุปเป็นภาพรวมของประเทศก็อาจกล่าวได้ว่าแทบทั้งหมด เป็นการเรียนแบบออนไลน์นั่นเอง

การเตรียมการเปิดภาคเรียน ในภาคเรียนที่2 ของปีการศึกษานี้ ได้กำหนดวันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นวันเปิดภาคเรียนพร้อมกันทั้งประเทศ แต่ก็มิได้เป็นกรณีบังคับ เพราะมีหลายโรงเรียน เช่น โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนที่มีลักษณะเฉพาะบางประเภท โรงเรียนประจำ โรงเรียนเด็กพิการ บางเเห่ง ได้เปิดเรียนไปล่วงหน้าแล้ว หรือโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย รวมทั้งโรงเรียนบางสังกัด อาจเปิดภาคเรียนภายหลัง ตามกำหนดเวลาเปิดปิดเทอมที่แตกต่างกันออกไป

แต่เมื่อกล่าวโดยรวมโรงเรียนส่วนใหญ่ก็จะใช้วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นวันเปิดเรียนแบบ on-site พร้อมๆกัน เมื่อกำหนดไว้เช่นนี้ สิ่งที่จะต้องดำเนินการโดยกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานทางการศึกษา รวมทั้งสถานศึกษาทั้งประเทศ จึงต้องมีทิศทางที่เป็นไปในเเนวเดียวกัน ต้องมีการจัดทำคู่มือกำหนดวิธีดำเนินการไว้ โดยเเบ่งออกเป็นสามส่วน คือ

1.การเตรียมการในช่วงก่อนเปิดภาคเรียน ซึ่งเน้นไปที่ การสร้างความปลอดภัยให้กับเด็ก อาทิโรงเรียนต้องมีการประเมินตนเองแบบเช็คลิสต์ ตามระบบ Sandbox Safety zone in School ประมาณ 20 ถึง 30 ข้อ เช่น การฉีดวัคซีนของนักเรียน ซึ่งศธ. กำหนดเป้าหมายไว้ว่าต้องเกิน 80 % การฉีดวัคซีนครูและบุคลากรกำหนดไว้ที่ 100% ความพร้อมด้านอาคารสถานที่ การทำความสะอาดบริเวณห้องเรียน ห้องอาหาร สนามเด็กเล่น และการบริการต่างๆเช่นการสุ่มตรวจวัดด้วย ATK ช่วงเปิดเรียน การจัดเตรียมตารางเรียนที่สามารถสร้างระยะห่างให้เกิดขึ้นกับเด็ก การติดตามสภาพการระบาดในชุมชนรอบโรงเรียน รวมทั้งการขอให้ ศบค.จังหวัด เข้ามาตรวจสอบ รับรอง และอนุญาต การเปิดเรียน

สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักคือต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ครู ช่วยกันเตรียมโรงเรียนให้ปลอดภัย เตรียมจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ ต้องใปฉีดวัคซีนป้องกันให้ครบถ้วน / ผู้ปกครองก็ต้องพาตัวเองและลูกหลานไปฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเว้นเเต่มีเหตุจำเป็นจริงๆ / ชุมชน สังคมรอบข้าง ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ก็ต้องช่วยทำให้จังหวัดปลอดโรค พ้นจากสถานการณ์เเพร่ระบาด

2. การจัดการเรียนการสอนตั้งแต่นี้ไป จะต้องเน้นความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นสำคัญ แต่ก็ต้องให้เด็กได้รับความรู้มากที่สุด การมาเรียนพร้อมกันทั้งโรงเรียนน่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก อาจต้องมีการสลับเวลาเรียนสลับชั้นเรียน แบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มเล็กๆใช้วิธีเรียนหลายอย่างประกอบกัน เช่นเรียนออนไลน์ในส่วนของเนื้อหาวิชาการ มาโรงเรียนเพียงบางวันเพื่อพบครูและเพื่อน ทำแบบฝึกหัดหรือกิจกรรมร่วมกัน มีการจัดค่าย เสาร์- อาทิตย์ เรียนว่ายน้ำ กีฬา ดนตรี กิจกรรมเสริมหลักสูตร เพื่อให้เด็กได้มีสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม อาชีวศึกษา อาจต้องใช้ระบบ เรียนเป็นโมดูล หรือ บล๊อคคอร์ส เรียนเป็นกลุ่ม กลุ่มเเรกเรียนหนึ่งเดือน จบหนึ่งวิชา จากนั้นกลุ่มที่สองก็มาเรียนต่อ เพื่อไม่ให้จำนวนผู้เรียนแออัดจนเกินไป ระดับมหาวิทยาลัยเน้นเรียนเนื้อหาจากระบบออนไลน์ และมาเรียนที่สถาบันเฉพาะในส่วนของกิจกรรม การเข้าห้อง Lab ฝึกปฏิบัติ การทำกิจกรรมกลุ่ม การฝึกงาน การจัดการเรียนการสอนเหล่านี้ ต้องเน้นบูรณาการ มีรูปแบบที่หลากหลาย และมุ่งให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาครบถ้วนในทุกด้าน ครูทุกคนมีความสามารถในการปรับตัวมาใช้ระบบออนไลน์อยู่แล้วในภาคเรียนที่ 1 หรือในปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ทำได้ดีมาก เมื่อจะปรับระบบการเรียนการสอนอีกครั้งหนึ่งให้มีความหลากหลาย และบูรณาการ ก็เชื่อว่าจะไม่เกินความสามารถของครูไทย

3. การเตรียมแผนเผชิญเหตุ กรณีเกิดปัญหาขึ้นในโรงเรียน เช่น มีนักเรียนติดโควิดในบางชั้น บางระดับ หรือชุมชนรอบข้าง มีผู้ติดโควิดจำนวนมากหรือในบางกรณีครอบครัวของนักเรียนติดโควิด หรือนักเรียนติดโควิดจากโรงเรียนแล้วนำไปติดคนในครอบครัว การติดโควิดจากการนั่งรถนักเรียนหรือติดจากชุมชน แล้วส่งผลกระทบต่อโรงเรียน จำเป็นต้องมีการประเมินร่วมกันระหว่างสถานศึกษา หน่วยงานสาธารณสุขและทีม ศบค.จังหวัดในการกำหนดทิศทางหรือการแก้ปัญหาร่วมกัน จึงไม่ต้องแปลกใจหรือกังวลใจ หากจะมีโรงเรียนเปิดแล้ว และต้องปิด เเล้วเปิดใหม่ สลับกันไปเป็นระยะ ถือได้ว่าเป็นความจำเป็นที่ต้องบริหารตามสถานการณ์

ท้ายที่สุดการจัดการศึกษา เป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจและต้องร่วมมือกันในการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเฉพาะเรื่อง เฉพาะพื้นที่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้หมายรวมไปถึงคนที่อาจต้องออกกลางคัน ตกหล่นจากระบบ เด็กกำพร้าจากการที่พ่อแม่เสียชีวิตด้วยโควิด หรือเด็กที่อยู่ในภาวะยากลำบากจากปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว ที่จำเป็นจะต้องแก้ไขต่อไป แต่อย่างน้อย การเริ่มต้นเปิดภาคเรียน น่าจะนำไปสู่การฟื้นฟูความรู้ให้กับเด็ก เป็นการเริ่มต้นก้าวเดินอีกครั้งของประเทศ เพราะไม่ว่าเราจะผ่านความยากลำบากเพียงใด ชีวิตก็ต้องเดินไปข้างหน้า ประเทศก็คงเป็นเช่นเดียวกัน

ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์ ศธ.360 องศา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่