“ณัฏฐพล” จ่อปรับหลักสูตรการเรียนการสอนอาชีวศึกษา ให้ทันสมัยและมีมาตรฐานสากล ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมเทคนิคภาษาศัพท์เฉพาะวิชาชีพให้มากขึ้น และดึงศักยภาพของภาคเอกชนมาสร้างความเข้มแข็งและความเข้มข้นให้แก่วิทยาลัยอาชีวศึกษา
เมื่อวันที่ 2 พ.ย. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลกลุ่มจังหวัดภาคใต้อันดามัน เพื่อติดตามการดำเนินงานนโยบายการจัดการอาชีวศึกษายกกำลังสองที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต จ.ภูเก็ต ว่า การจัดการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษาคือเรื่องสำคัญที่ประเทศต้องการเพราะจะช่วยยกระดับประเทศในอนาคตได้ ซึ่งตนมีโจทย์สำคัญที่อยากจะยกระดับจังหวัดและสร้างอาชีพด้วยระบบการศึกษา ดังนั้นเราไม่สามารถยกระดับจังหวัดได้หากคุณภาพการศึกษายังไม่ดีพอ จึงขอให้ผู้บริหารการศึกษากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันต้องเพิ่มโอกาสทางการเรียนรู้ให้มากขึ้น เพราะอยากให้จังหวัดภูเก็ตเป็นโมเดลพื้นฐานในการยกระดับการศึกษาทั้งจังหวัดให้ได้ เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีความพร้อมและพึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึง 97% ดังนั้นเราจึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมให้เด็กด้วยหลักสูตรการเรียนการสอนที่ทันสมัย ปรับหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฝากความหวังกับการศึกษาอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ตนอยากให้อาชีวศึกษากล้าปรับเปลี่ยนตัวเอง โดยหลักสูตรจะต้องมีความทันสมัยและมีมาตรฐานสากล เช่น สาขาวิชาการบัญชี ซึ่งวิทยาลัยแต่ละแห่งมีการรับนักศึกษาจำนวนมาก แต่ในอนาคตคาดว่าอีก 3 ปีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ จะเข้ามาแทนที่ ดังนั้นอาชีวะควรจะปรับหลักสูตรใหม่ให้เชื่อมโยงกับโลกปัจจุบันด้วย ทั้งนี้ตนไม่อยากให้วิทยาลัยเปิดหลักสูตรเพียงเพื่อหวังเพียงรายได้ให้เด็กมาเรียน แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพด้วย ดังนั้นในอนาคตวิทยาลัยอาชีวศึกษาอาจจะต้องยุบบางสาขาและคัดเลือกสาขาวิชาที่มีความพร้อมมาสร้างความเป็นเลิศของวิทยาลัย รวมถึงภาษาอังกฤษของผู้เรียนอาชีวศึกษาจะต้องมีมาตรฐาน เด็กจะต้องสื่อสารได้ อย่างไรก็ตามคงเป็นเรื่องยากที่จะให้ผู้เรียนอาชีวะมีศักยภาพด้านภาษาอย่างเต็มที่ ดังนั้นจะต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมเทคนิคภาษาศัพท์เฉพาะวิชาชีพให้มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะเพิ่มขีดความสามารถด้านภาษาของผู้เรียนได้ ส่วนการจัดการศึกษาในรูปแบบทวิภาคีอยากให้ภาคเอกชนไม่ใช่เข้ามาทำแค่โครงการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร หรือ csr เท่านนั้น แต่ต้องดึงศักยภาพของภาคเอกชนมาสร้างความเข้มแข็งและความเข้มข้นให้แก่วิทยาลัยอาชีวศึกษาให้มากกว่านี้
ขอบคุณที่มาและอ่านต่อ : Facbook At_HeaR ข่าวจริงเข้าหู