“ตรีนุช” ชี้สอนประวัติศาสตร์ต้องไม่สอนแบบท่องจำ
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการการสอนประวัติศาสตร์สำหรับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 รูปแบบผสมผสาน ซึ่งดำเนินการร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ SPAFA เพื่อพลิกเปลี่ยนสู่มิติใหม่ในการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ โดยมี ดร.นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร นายเขมชาติ เทพไชย ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ SPAFA นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม คณะวิทยากร คณะทำงาน คณะครู และศึกษานิเทศก์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
โดย น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก พร้อมมีนโยบายและจุดเน้นการพัฒนาวิชาประวัติศาสตร์ โดยให้มีการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ให้มีความทันสมัย น่าสนใจ เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน ควบคู่กับการเสริมสร้างวิถีความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง โดยการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในปัจจุบันต้องไม่เป็นการเรียนแบบท่องจำ แต่ต้องส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ เพื่อทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในแง่มุมต่าง ๆ ให้ความสำคัญทั้งประวัติศาสตร์ชาติและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อให้เด็กและเยาวชน ได้รู้ที่มา รากเหง้า และตัวตนของเรา ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นทุนทางสังคม วัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่มีคุณค่าของประเทศไทย
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า การสอนประวัติศาสตร์สามารถเริ่มต้นจากการพานักเรียนสำรวจความเป็นมาของท้องถิ่นตนเอง จากสิ่งที่เด็กได้เห็นอยู่ทุกวันว่ามีที่มาอย่างไร แล้วนำไปสู่ประวัติศาสตร์สังคมร่วมกันของประเทศ ซึ่งครูจะเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ให้เปิดกว้างเรียนรู้สิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง รู้และเข้าใจความสนใจของผู้เรียน เพื่อพัฒนาหรือเลือกใช้สื่อการเรียนการสอนอย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ ด้วยวิธีการที่ทันสมัย ใช้แหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อไปสู่เป้าหมาย ทำให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจประวัติศาสตร์ชาติและท้องถิ่น สามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ เข้าใจบทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อต่อยอดความสำเร็จ และลดข้อผิดพลาดในอนาคตได้
“การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมที่ดีที่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อแนะนำ ประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่สอดคล้องกับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 จากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์หลากหลายสาขา ให้แก่ศึกษานิเทศก์ คณะครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้สนใจ ได้รับแนวทางและมุมมองใหม่ ๆ ในการออกแบบการศึกษาต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว
ขอบคุณที่มาและอ่านต่อที่ :: เดลินิวส์ ออนไลน์ วันที่ 18 มกราคม 2566