ตรีนุช เทียนทอง เข้ารับตำแหน่งรมว.ศธ. อย่างเป็นทางการ พร้อมผลักดันนโยบายภายใต้แนวคิด “TRUST”
เมื่อวันจันทร์ที่ 29 มีนาคม 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอย่างเป็นทางการ พร้อมมอบนโยบายผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ข้าราชการ และบุคลากรทางการศึกษา ให้การต้อนรับ ณ กระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นการทำงานวันแรกที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ และมีกรอบภาระงานในหลากหลายมิติ โดยมีความตั้งใจที่จะสานต่อโครงการดี ๆ ที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) ริเริ่มไว้ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อาทิ การพัฒนาโรงเรียนคุณภาพของชุมชนและการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นต้น พร้อมทั้งจะเร่งดำเนินการแก้ปัญหาที่มีความเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา ที่ ศธ. ต้องมีมาตรการดูแลและมีแนวปฏิบัติด้านต่าง ๆ รวมถึงระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครอง ว่าโรงเรียนที่เปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังที่สองของนักเรียน เป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนทุกคน
นอกจากนี้ ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะดิจิทัลและทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลให้กระบวนการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไป และปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน ต้องอาศัยการเรียนออนไลน์มากขึ้น จึงต้องมีการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม และนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนมากขึ้น โดยต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม ซึ่งถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา นำไปสู่การเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking), การปรับตัวในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว, การส่งเสริมภาษาต่างประเทศ เป็นต้น
ในส่วนของการอาชีวศึกษา จะมุ่งเน้นการขับเคลื่อนภาพลักษณ์ที่ดีและยกระดับศูนย์ความเป็นเลิศอาชีวศึกษา (Excellence Center) พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจให้สังคมเข้าใจว่า “อาชีวศึกษา” เป็นการต่อยอดการศึกษาจากสายสามัญและมีการจัดการศึกษาที่มีมาตรฐาน ตลอดจนร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในบริบทต่าง ๆ รวมถึงให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาตลอดชีวิต โดยส่งเสริมให้ประชาชนแต่ละช่วงวัยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตั้งแต่เด็กจนกระทั่งผู้สูงวัย
“ขอผลักดันนโยบายภายใต้แนวคิด” TRUST” หรือ “ความไว้วางใจ” T ย่อมาจาก Transparency (ความโปร่งใส), R ย่อมาจาก Responsibility (ความรับผิดชอบ), U ย่อมาจาก Unity (ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว), S ย่อมาจาก Student-Centricity (ผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา) และ T ย่อมาจาก Technology (เทคโนโลยี) ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานที่จะทำให้ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง ผู้เรียน และประชาชน กลับมาให้ความไว้วางใจในการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้ง ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการยินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ ต่อไป” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ขอบคุณที่มา : Facebook ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ศธ.