ที่ปรึกษา รมว.ศธ.แจงแล้ว ไม่โอนไม่ย้ายกลุ่มงานศึกษานิเทศก์ไปสังกัดสำนักงานปลัดศธ. ชี้ ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่อนาคตจะต้องร่วมกันทำงานให้มากขึ้น

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. เวลา 09.00 น. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลุ่มชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) แห่งประเทศไทย สมาคมผู้บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายองค์กรครูทั่วประเทศ กว่า 1,000 คน ได้แต่งชุดดำเดินทางมายื่นหนังสือถึงนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เรื่องคัดค้านการโอนศึกษานิเทศก์ บุคลากรหน่วยตรวจสอบภายใน และบุคลากรกลุ่มส่งเสริมการศึกษาทางไกล เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร จากสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ปฏิบัติงานในภูมิภาคมาไว้ที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) โดยให้ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สํานักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.)

 นายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่ง ประเทศไทย  กล่าวว่า ตามที่สํานักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ศธ02137 / 220 ลงวันที่ 7 ม.ค.2563 เรื่องขอข้อมูลอัตราตําแหน่งศึกษานิเทศก์ และตําแหน่งนักวิชาการตรวจสอบภายใน จากสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อขออนุมัติโอนอัตราตําแหน่งและเงินงบประมาณแผ่นดินประจํา อัตรารวม

ที่มา : เดลินิวส์

ตลอดทั้งงบบุคลากรที่จ่ายในลักษณะเงินเดือน ค่าจ้างประจํา และเงินอื่นที่เกี่ยวข้อง ของข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ตําแหน่งศึกษานิเทศก์ และตําแหน่งนักวิชาการตรวจสอบภายใน จาก สพฐ.ที่ปฏิบัติงานในภูมิภาคมาไว้ที่สำนักงานปลัด ศธ.โดยให้ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ ศธจ. เพื่อเสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาคให้ความเห็นชอบในการประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 1 /2563 ที่จะมีขึ้นในเร็วๆนี้

 นายธนชน กล่าวต่อไปว่า สำหรับกลุ่มสมาคมครูตลอดจนพี่น้องบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค (2) ไม่เห็นด้วย และจะขอคัดค้านจนถึงที่สุด เพราะข้อเสนอดังกล่าวเป็นการดําเนินการโดยขาดหลักธรรมมาภิบาล อาศัยอํานาจของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของศธ. ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ประกอบด้วย ผู้บริหารองค์กรหลักในศธ. โดยไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมพิจารณาและข้อเสนอแนวทางนี้เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ต้องการทําลายเขตพื้นที่การศึกษา ให้อ่อนแอ เพื่อไปสร้างความเข้มแข็งให้กับ ศธจ.

โดยข้อเท็จจริงคุณภาพการศึกษาจะสำเร็จผลได้ก็โดยการปฏิรูปการเรียนการสอนในห้องเรียนเป็นสําคัญ ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่โดยตรงของสพท.ที่กํากับติดตามส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปเรียนการสอนในห้องเรียนและสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษาในสังกัดให้มีคุณภาพตามมาตรการศึกษาชาติ โดยมีศึกษานิเทศก์ และกลุ่มส่งเสริมการศึกษาทางไกลเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นผู้รับผิดชอบร่วมกันโดยตรง
 
ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวหากคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของศธ.ใน ภูมิภาคให้ความเห็นชอบ ก็คือความผิดพลาดครั้งใหญ่หลวงของการปฏิรูปการศึกษาจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเพื่อประโยชน์ของเด็กและเยาวชนของชาติ ไม่ให้รับผลกระทบที่เกิดจากการโอน ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรในหน่วยตรวจสอบภายใน และบุคลากรในกลุ่มส่งเสริมการศึกษาทางไกล เทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสาร ของ สพท.ไปสังกัด ศธจ.

ทั้งนี้ สมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยองค์กรเครือข่าย จึงเรียกร้องให้สํานักงานปลัด ศธ. ยกเลิกการจัดทําข้อเสนอดังกล่าวนี้ ให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาศธ.ในภูมิภาคพิจารณา หากยังดันทุรังที่จะดําเนินการต่อไปโดยไม่ยอมรับฟัง ข้อเท็จจริง และเหตุผล ที่ได้เสนอต่อ  รมว.ศธ.และผู้เกี่ยวข้องไปแล้ว สมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศ ไทย พร้อมด้วยองค์กรเครือข่าย จะยกระดับการเรียกร้อง และใช้มาตรการ ให้เข้มข้นต่อไป ทั้งนี้เพื่อป้องกันความ ผิดพลาดซ้ำซาก ของการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.

 ด้านนายวราวิช กำ ภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษา รมว.ศธ.ในฐานะประธานคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างศธ. กล่าวว่า ตนได้ในฐานะประธานคณะกรรมการปรับโครงสร้างศธ.เป็นตัวแทน รมว.ศธ.มาชี้แจงและสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้คัดค้าน ซึ่งขอทำความเข้าใจก่อนว่าการปรับโครงสร้างศธ.ยังไม่ได้ข้อยุติหรือข้อสรุปที่ออกมาอย่างเป็นทางการ โดยหนังสือที่ออกเป็นคำสั่งจากสำนักงานปลัดศธ.นั้นเป็นเพียงหนังสือที่สอบถามความคิดเห็นและอัตรากำลังของสพฐ.ในการเริ่มกระบวนการปรับปรุงโครงสร้าง

ดังนั้นขอกลุ่มศึกษานิเทศก์และผู้เกี่ยวข้องทุกคนอย่าไปกังวลกัยบสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะการปรับโครงสร้างศธ.ยังต้องมีการจัดทำประชาพิจารณ์ความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ดังนั้นในขณะนี้เรายังไม่ได้มีการย้าย ยุบ โอนให้หน่วยงานศึกษานิเทศไปสังกัดศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) แต่อย่างใด แต่ในอนาคตยอมรับว่าทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันทำงาน เพื่อขจัดปัญหาการซ้ำซ้อนของการปฎิบัติงานในพื้นที่

“ศธ.ต้องการให้มีการอบรมพัฒนาสร้างทักษะความรู้ให้แกศึกษานิเทศก์ เพื่อหวังว่าจะนำนวัตกรรมใหม่ๆมาพัฒนาโรงเรียน พร้อมกับมีรูปแบบการติดตามและประเมินผลคุณภาพการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้การปรับโครงสร้างในส่วนของสพฐ.ก็ได้มีเสนอแนวทางมาแล้วเช่นกันว่าจะปรับเปลี่ยนในเรื่องใดบ้าง โดยในวันที่ 24 ม.ค.จะมีการประชุมคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างศธ.ก็ขอให้ติดตามว่าเราจะมีแนวทางหรือข้อสรุปไปในทิศทางใดบ้าง”

ที่มาเนื้อหารายละเอียดข่าว ขอบคุณ : เดลินิวส์ 17 มกราคม 2563

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่