“ณัฏฐพล” คิดผ่องถ่ายโอนครู สพฐ.ไปอาชีวะเพิ่มขึ้น เหตุเด็กน้อยลง และรัฐสนับสนุนให้คนเรียนสายอาชีพมากขึ้น
ด้านบอร์ด ก.ค.ศ.อนุมัติ การตัดโอนอัตราเงินเดือน ครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ. ว่าง เป็นตำแหน่ง ครูผู้ช่วย ในสถานศึกษา จำนวน 1,843 อัตรา พร้อมเห็นชอบ ยกเว้น คุณสมบัติผู้เข้ารับการคัดเลือก ตำแหน่งผอ.- รอง ผอ.สถานศึกษา
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)มีการหารือ เกี่ยวกับการอนุมัติอัตราการโอนย้ายตำแหน่งข้ามแท่ง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมวางแผนให้เกิดการทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน เช่น โรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ที่้เด็กน้อยลง ขณะที่รัฐบาลต้องการผลักดันการผลิตผู้เรียนสายอาชีพ ตำแหน่งครูอาชีวะก็ต้องมีเพิ่มขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติให้กำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยการตัดโอนอัตราเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ว่างอยู่ กำหนดเป็นตำแหน่งครูผู้ช่วย ในสถานศึกษา รวมจำนวน 1,843 อัตรา สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 1,023 อัตรา และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 820 อัตรา โดยมีเงื่อนไขในการใช้ตำแหน่ง เพื่อการบรรจุและแต่งตั้ง คือ ให้ได้รับเงินเดือนอันดับครูผู้ช่วย ตามวุฒิที่ ก.ค.ศ. กำหนด โดยอาศัยเบิกในอัตราเงินเดือนที่กำหนด และอัตราเงินเดือนที่กำหนดนี้ เมื่อนำไปใช้บรรจุและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วยแล้ว อัตราเงินเดือนที่เหลือ อยู่ไม่สามารถนำไปใช้เป็นอัตราเงินเดือนสำหรับตำแหน่งว่าง ไม่มีเงินหรือนำไปกำหนดเป็นตำแหน่งเพิ่มใหม่ได้ และให้สำนักงานปลัด ศธ. นำเรื่องการตัดโอนอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน สังกัด สพฐ. ไปกำหนดเป็นตำแหน่งครูผู้ช่วย ในสถานศึกษา สังกัดสำนักงาน กศน. สำนักงานปลัด ศธ. สอศ. เสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาคให้พิจารณาอนุมัติต่อไป
นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ยกเว้นคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ (ว8/2562) โดยมีสาระสำคัญ คือ ยกเว้นให้ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกไม่ต้องผ่านการพัฒนาก่อนเข้าสู่การคัดเลือก แต่มีเงื่อนไขให้เพิ่มระยะเวลาในการพัฒนาก่อนการบรรจุและแต่งตั้ง โดยเนื้อหาของหลักสูตรต้องมีการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษและทักษะทางเทคโนโลยีดิจิทัล และให้เพิ่มระยะเวลาในการประเมินสัมฤทธิ์ผลในการปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อพัฒนาการศึกษา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ที่ ก.ค.ศ. กำหนด จากระยะเวลา 6 เดือน เป็นระยะเวลา 1 ปี และกำหนดให้มีการประเมิน 2 ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน โดยให้ทุกส่วนราชการทราบและถือปฏิบัติเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีความรู้ความสามารถ และศักยภาพในการเป็นผู้นำ ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา “ส่วนหลักเกณฑ์การเข้าสู่แหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ที่ประชุมก็ได้มีการพูดคุย และใช้เวลาค่อนข้างนาน ซึ่งตนย้ำว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องคัดผู้บริหารที่มีทักษะภาษาอังกฤษ มีใช้เทคโนโลยี มีความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งทักษะเหล่านี้ถือเป็นเรื่องสำคัญของการมาเป็นผู้บริหารที่จะต้องมีความสามารถขับเคลื่อนการศึกษาไทย”นายณัฏฐพลกล่าว
ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 26 พฤศจิกายน 62