รมว.ศธ.ย้ำ 3 เรื่องสำคัญการศึกษาในภูมิภาค เน้นกระจายอำนาจ-พัฒนาผู้บริหารโรงเรียนให้เข้มแข็ง-สร้างสุขอนามัยในโรงเรียน
(2 มี.ค.63) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ
รมว.ศธ.ฝากให้ขับเคลื่อน 3 เรื่องที่สำคัญในการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวในที่ประชุมว่า ต้องการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง วางฐานการดำเนินงานการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค 3 เรื่องที่สำคัญ คือ
1. การกระจายอำนาจ ต้องการให้ ศธ.กระจายอำนาจไปยังภูมิภาค โดยส่งเสริมสนับสนุนโรงเรียนเป็นนิติบุคคลให้มากขึ้น ปัจจุบัน ศธ.มีหลายโรงเรียนที่สามารถบริหารจัดการได้ดี เช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย อาจนำไปเป็นแนวทางดำเนินการได้ โดยเริ่มต้นการให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล ต้องพิจารณาจากความพร้อม ซึ่งอาจจัดกลุ่มที่จะกระจายอำนาจตามบริบทของแต่ละโรงเรียน
2. การเข้าสู่ตำแหน่งของผู้บริหารสถานศึกษา ต้องมีความเข้มข้นในการพัฒนาก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง เพื่อวางฐานผู้ที่จะเป็นผู้บริหารสถานศึกษาให้มีความพร้อมก่อนการปฏิบัติงาน โดยต้องได้รับการอบรมพัฒนาก่อน 1 ปี เพราะหาก ศธ.มีผู้บริหารที่ดี มีความสามารถ และเข้มแข็งในการบริหารงาน ก็จะส่งผลถึงคุณภาพของสถานศึกษาและการศึกษาอย่างแท้จริง
3. การสร้างสุขลักษณะ-สุขอนามัยของโรงเรียนในภูมิภาค ต้องการให้ทุกสังกัดได้นำเรื่องนี้มาดำเนินการอย่างจริงจัง เช่น น้ำ ขยะ ส้วม ฯลฯ โรงเรียนจึงจำเป็นต้องเป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัย พร้อมทั้งการส่งเสริมให้นักเรียนมีสุขภาพที่ดี ตลอดระยะเวลาที่นักเรียนอยู่ในโรงเรียน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ย้ำเรื่องการจัดสรรบุคลากรให้โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกล (Stand Alone) ซึ่งมีอยู่กว่า 5,000 โรงเรียน ให้มีบุคลากรที่พร้อม ตรงกับความต้องการ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยจะดำเนินการให้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ซึ่ง สพฐ. จะสำรวจความต้องการของโรงเรียนแต่ละแห่ง ซึ่งจะมีการหารือในเรื่องนี้ในการประชุมองค์การหลัก ศธ. วันที่ 4 มี.ค.นี้
การอนุมัติตัดโอนอัตราเงินเดือนครูสายงานการสอน
นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัด ศธ.ในฐานะโฆษก ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติให้ตัดโอนอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายการสอน ตำแหน่งครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปกำหนดเป็นตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จำนวน 1,023 อัตรา และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวน 820 อัตรา รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,843 อัตรา โดยมีเงื่อนไขในการใช้ตำแหน่งเพื่อการบรรจุและแต่งตั้ง คือ ให้ได้รับเงินเดือนอันดับครูผู้ช่วย ตามวุฒิที่ ก.ค.ศ. กำหนด โดยอาศัยเบิกในอัตราเงินเดือนที่กำหนด และอัตราเงินเดือนที่กำหนดนี้ เมื่อนำไปใช้บรรจุและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วยแล้ว อัตราเงินเดือนที่เหลืออยู่ไม่สามารถนำไปใช้เป็นอัตราเงินเดือนสำหรับตำแหน่งว่าง ไม่มีเงิน หรือนำไปกำหนดเป็นตำแหน่งเพิ่มใหม่ได้
ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบการตัดโอนอัตราตำแหน่ง และเงินงบประมาณแผ่นดินประจำอัตรา รวมทั้งบุคลากรที่จ่ายในลักษณะเงินเดือน ค่าจ้าง และเงินอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตั้งไว้สำหรับตำแหน่งที่เกลี่ยนั้นมาเป็นของส่วนราชการอื่น เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ได้มีมติตัดโอนอัตราตำแหน่งครูผู้ช่วยให้แก่สถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา (อำเภอเทพา สะบ้าย้อย นาทวี และจะนะ) สังกัด กศน. แต่ไม่สามารถโอนค่าจ้าง และเงินอื่นที่เกี่ยวข้องจาก สพฐ.มาให้ กศน.ได้ เพราะพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ได้ยกเลิกไปแล้ว และให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ส่งผลให้ไม่สามารถจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง และเงินอื่นที่เกี่ยวข้องได้ ดังนั้นที่ประชุมจึงได้มีมติให้ปรับข้อกฏหมายเกี่ยวกับการจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง และเงินอื่นที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561
สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีผู้บริหารที่เข้าร่วมประชุม เช่น คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการ รมว.ศธ., นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. (นางกนกวรรณ วิลาวัลย์), นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ. (นางกนกวรรณ วิลาวัลย์), นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัด ศธ.และโฆษก ศธ., นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ กพฐ. ฯลฯ
ขอบคุณที่มา : ศธ360