นโยบายและมาตรการเกี่ยวกับหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ในระบบการศึกษาของไทย

เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่านครับ

Toggle

นโยบายและมาตรการเกี่ยวกับหลักสูตร วิชาประวัติศาสตร์ในระบบการศึกษาของไทย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ตอบกระทู้ถามของนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย จังหวัดกระบี่ ดังนี้

นโยบายและมาตรการเกี่ยวกับหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ในระบบการศึกษาของไทย
นโยบายและมาตรการเกี่ยวกับหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ในระบบการศึกษาของไทย

ราชกิจจานุเบกษา : นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตอบกระทู้ถามที่ 187 ร. ของ นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย จังหวัดกระบี่ เรื่อง นโยบายและมาตรการเกี่ยวกับหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ในระบบการศึกษาของไทย

ประเด็นสำคัญ

ด้วยสังคมยุคโลกาภิวัตน์ เป็นโลกยุคข้อมูลข่าวสาร ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และโลกของตลาดเสรีที่ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ การใช้ชีวิตแบบทันสมัย ที่มีความเป็นสากลทั้งภาษา การแต่งกาย อาหารการกิน ภาพยนตร์ ดนตรี ฯลฯ

ที่ผ่านมาแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่หลงใหลกับโลกตะวันตก ผู้คนให้ความนิยมคนเก่ง คนฉลาด ทันสมัย ทันเหตุการณ์ รู้เท่าทันเทคโนโลยี เป็นยุคที่เด็กไทยเห็นและหลงใหลความเป็นปัจเจกชน มากกว่าจิตสาธารณะความคิดของผู้คนในความเป็นสากล

ดังนั้น ยุคโลกาภิวัตน์จึงส่งผลกระทบต่อค่านิยมความเป็นไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วัฒนธรรมไทย ภูมิปัญญาไทยนับวันยิ่งจะถูกเมินจากเยาวชนมากยิ่งขึ้น

แต่เนื่องจากประวัติศาสตร์หรือการสืบสวนอดีตของมนุษย์ ทำให้สามารถได้รู้ว่า พฤติกรรมและความคิด ความเชื่อของผู้คนในสังคมเกิดขึ้นได้อย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงหรือมีพัฒนาการมาอย่างไร อันจะนำไปสู่การวิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจปัญหาอย่างมีเหตุมีผลในการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ด้วยการศึกษาอดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบัน และเห็นแนวทางก้าวสู่อนาคตได้อย่างมีคุณภาพ

โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ดี จะก่อคุณค่าเจตคติและค่านิยมให้แก่ผู้เรียน ท้องถิ่น และประเทศชาติ ตอบสนองคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในหลักสูตร คือ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และรักความเป็นไทย จึงขอเรียนถามว่า

1. กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายกำหนดแผนงาน โครงการบรรจุหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาในระดับต่าง ๆ หรือไม่อย่างไร ขอทราบรายละเอียด

2. กระทรวงศึกษาธิการมีการสั่งการให้หน่วยงานใด รับผิดชอบดำเนินการออกมาตรการ กำกับดูแล ส่งเสริม และควบคุมให้มีหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย บรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน เช่น ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษาหรือไม่ เมื่อใด อย่างไร ขอทราบรายละเอียด

ขอให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา

1 กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายกำหนดแผนงาน โครงการบรรจุหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาในระดับต่าง ๆ หรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด

กระทรวงศึกษาธิการขอเรียนว่า ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ จึงได้มีการบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอาชีวศึกษา

ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้กำหนดให้วิชาประวัติศาสตร์เป็นรายวิชาพื้นฐาน (วิชาบังคับ) ในสาระประวัติศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ซึ่งผู้เรียนจะได้เรียนรู้เนื้อหาในเรื่องเวลาและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ วิธีการทางประวัติศาสตร์ พัฒนาการของมนุษยชาติจากอดีตถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์และเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่าง ๆ ผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์สำคัญในอดีต บุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ความเป็นมาของชาติไทย วัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย และแหล่งอารยธรรมที่สำคัญของโลก อันเป็นการศึกษาอดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบันและวางแนวทางก้าวสู่อนาคต โดยกำหนดให้สถานศึกษามีการจัดการเรียนการสอนรายวิชาประวัติศาสตร์ 40 ชั่วโมงต่อปี (สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง) ในทุกชั้นเรียน และโรงเรียนสามารถจัดเป็นรายวิชาเพิ่มเติม (วิชาเลือก) หรือจัดเป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งสถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติมตามความพร้อมและจุดเน้น รวมทั้งสามารถปรับให้เหมาะสมตามบริบทของสถานศึกษาและสภาพของผู้เรียนได้

สำหรับการเรียนอาชีวศึกษา ในหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้มีการบรรจุรายวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยและรายวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ในกลุ่มวิชาสังคมศึกษา หมวดวิชาสมรรถนะแกนกลาง ซึ่งเป็นรายวิชาบังคับที่นักเรียนทุกคนต้องเรียนในรายวิชาดังกล่าว และในหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พ.ศ. 2563 ได้บรรจุรายวิชาศาสตร์พระราชา และรายวิชาการเมืองการปกครองของไทย ในกลุ่มวิชาสังคมศึกษา หมวดสมรรถนะแกนกลาง โดยมีการบูรณาการการเรียนการสอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยในกิจกรรม
เสริมหลักสูตรต่าง ๆ

2 กระทรวงศึกษาธิการมีการสั่งการให้หน่วยงานใด รับผิดชอบดำเนินการออกมาตรการ กำกับดูแล ส่งเสริม และควบคุมให้มีหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย บรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน เช่น ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษาหรือไม่ เมื่อใด อย่างไร ขอทราบรายละเอียด

กระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินการส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 กำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ ทุกระดับ จะต้องให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนสาระประวัติศาสตร์ พัฒนาการเรียนรู้ให้เกิดความน่าสนใจ ใช้กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย จัดกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และความเป็นเหตุเป็นผลให้เกิดในตัวผู้เรียน โดยจัดเป็นวิชาเฉพาะอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นได้มีการกำหนดจุดเน้นและพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ผ่านแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น การจัดทำตัวชี้วัดสำคัญต้องรู้ ควรรู้ในสาระประวัติศาสตร์ การพัฒนาวิทยากรแกนนำ การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย และพัฒนาแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยแบบ Active Learning

ปี พ.ศ. 2563 กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการเผยแพร่และขยายผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เสริมสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 รูปแบบ Flipped Classroom และสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ Web Based Learning และจัดทำโครงการพัฒนาสื่อเสมือนจริง (AR) ผ่านธนบัตรเพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รวมทั้งได้จัดทำโครงการพัฒนานวัตกรรมสื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยการจัดทำบทเรียนผ่านสื่อวีดิทัศน์ และปรับวิธีการสอนของครูด้วยการมีนวัตกรรมและสื่อการสอนที่ทันสมัย ผ่านรูปแบบสื่อที่เข้าถึงเด็กและเยาวชน สอดคล้องตามบริบทท้องถิ่นของแต่ละแห่ง

ในส่วนของการศึกษาประวัติศาสตร์ระดับอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการส่งเสริม พัฒนามาตรฐานและหลักสูตรการอาชีวศึกษาทุกระดับมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้บรรจุหลักสูตรที่เกี่ยวกับการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษากระบวนการทางประวัติศาสตร์ในด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม นำไปประยุกต์ใช้เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต และธำรงไว้ซึ่งความเป็นไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

รายละเอียดเพิ่มเติม : ราชกิจจานุเบกษา ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์ ศธ 360 องศา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่