ศธ.ยันไม่เลื่อนเปิดเทอม 1 พ.ย. ให้ทยอยเปิด-ยกเลิกสุ่มตรวจ ATK

ศธ.ยันไม่เลื่อนเปิดเทอม 1 พ.ย. ให้ทยอยเปิด-ยกเลิกสุ่มตรวจ ATK กำชับสถานศึกษาประเมิน 6 หลักเกณฑ์ คาดสัปดาห์นี้คลอดคู่มือปฏิบัติ เหลือเจรจายกเลิกสุ่มตรวจ ATK ย้ำเปิดเรียน 2 สัปดาห์แรกเน้นสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครู-นักเรียน

วันที่ 20 ตุลาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงการเตรียมเปิดภาคเรียนที่ 2 ในที่ประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ว่า จะไม่มีการเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 2 ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายจะเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการก็มีนโยบายต้องการเปิดเรียนแบบ On Site ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เช่นกัน โดยหลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาเปิดเรียน คือ

1.ให้แต่ละโรงเรียนประเมินโรงเรียนตนเองอย่างเคร่งครัดว่ามีความพร้อมแค่ไหน โดย ผอ.โรงเรียนต้องเป็นผู้ประเมินด้วยตนเอง

2.ครูแต่ละโรงเรียนจะต้องได้รับวัคซีนแล้ว 100%

วันนี้ภาพรวมครูฉีดวัคซีนไปแล้วเกือบ 90% แต่เมื่อดูรายละเอียดเชิงลึกก็พบว่าบางโรงเรียนฉีดยังไม่ถึง 30% เพราะฉะนั้นหน้าที่ของ ผอ.แต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ก็ต้องมีข้อมูลจำแนกเป็นรายโรงเรียนว่า ในแต่ละโรงเรียนนั้นมีการฉีดวัคซีนไปจำนวนเท่าใด มีใครฉีดแล้วบ้าง ใครยังไม่ฉีด และไม่ฉีดด้วยสาเหตุอะไร ต้องมีข้อมูลในเชิงตัดสินใจ และหาวิธีการแก้ไขปัญหา

3.การฉีดวัคซีนของนักเรียน

วันนี้เรามีนักเรียนที่ประสงค์จะฉีดวัคซีน 80% ก็จริง แต่ก็ยังมีหลายโรงเรียนที่เปอร์เซ็นต์ไม่ถึง 50% ก็ต้องประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจ

เพราะภาพรวมขณะนี้พบว่าตอนแรกมีนักเรียนไม่สมัครใจฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมากกว่าล้านคน แต่ช่วงหลังเริ่มมีวอล์กอินเข้ามาเป็นจำนวนหลายแสนคนที่ประสงค์จะฉีด เพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของเขตกับโรงเรียนจะต้องจำแนกเป็นรายโรงเรียนว่า โรงเรียนใดที่ยังฉีดไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนด สาเหตุคืออะไร แล้วจะมีวิธีการรณรงค์ส่งเสริมอย่างไร

4.การฉีดวัคซีนของผู้ปกครอง

โดยเฉพาะผู้ปกครองของนักเรียนอนุบาล-ป.6 ที่อายุยังไม่ถึง 12 ปี และยังไม่ได้รับวัคซีน โรงเรียนจะต้องรณรงค์ให้ผู้ปกครองรับวัคซีน เพราะเด็กนักเรียนวัยนี้ส่วนใหญ่มีความใกล้ชิดกับผู้ปกครองมากกว่าเพื่อน ดังนั้นถ้าหากทั้งผู้ปกครอง ครู ได้รับวัคซีนครบถ้วน ก็จะสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัย

5.การเปิดภาคเรียนที่ 2 จะยึดพื้นที่ตำบล อำเภอ เป็นฐานในการเปิด เพราะฉะนั้นเขตพื้นที่แต่ละเขตจะต้องกำหนด พื้นที่สีขาว ส้ม แดง แดงเข้ม ภายในเขตพื้นที่ของตนเอง แม้อยู่ในจังหวัดสีแดงเข้มก็ตาม แต่ในบางพื้นที่ก็จะมีเขตที่ปลอดภัย-ไม่ปลอดภัย เพื่อใช้ในการกำหนดเป้าหมายในการเปิดเรียนก่อนได้

6.เมื่อประเมินตามเกณฑ์ทุกข้อแล้ว ก็ต้องเสนอขออนุญาตเปิดเรียนไปยังศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ ประจำจังหวัด

“ตอนนี้เราเหลือเวลาในการเตรียมการอยู่ 2 สัปดาห์ แต่ละพื้นที่ต้องจัดทำไทม์ไลน์สำหรับการประเมินรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อจะนำเข้าคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน และต้องทำแผนเปิดเรียน มาตรการต่าง ๆ เช่น การเตรียมห้องเรียน ต้องมีจำนวนนักเรียนเท่าไหร่ ต้องกำหนดรูปแบบว่า ถ้าจำนวนนักเรียนต่อห้องเกินกว่า 25 คน หรือระยะห่างกันไม่ถึง 2 เมตร ตามเกณฑ์กำหนดต้องมีรูปแบบการจัดการ

เช่น สลับชั้นมาเรียน หรือสลับเลขที่มาเรียน จะออกแบบอย่างไร ทุกอย่างต้องมีมาตรการรองรับให้ชัดเจน ที่สำคัญหากเกิดเหตุมีการระบาดติดเชื้อในโรงเรียน ก็ต้องมีแผนเผชิญเหตุร่วมกับโรงพยาบาล อสม. จังหวัด เดิมทีเมื่อติดเชื้อมักจะปิดทั้งโรงเรียน แต่ปัจจุบันถ้านักเรียนห้องใดติดเชื้อ จะให้กักตัวเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง หรือหยุดเฉพาะห้องนั้น ส่วนห้องเรียนอื่น ๆ ก็มาเรียนปกติ”

ทั้งนี้นายอัมพร กล่าวต่อว่า การเปิดเรียนแบบ on site อาจไม่ได้เปิดพร้อมกันในวันที่ 1 พฤศจิกายนทั้งหมดแต่เป็นการทยอยเปิด บางโรงเรียนอาจเปิดได้วันที่ 5 หรือวันที่ 10 พฤศจิกายน หรือบางแห่งอาจจะเปิดได้ 1 ธันวาคม ก็ขึ้นอยู่กับการประเมินของแต่ละจังหวัด แต่ระหว่างรอมาเรียนแบบ on site อาจมีรูปแบบอื่น ๆ รองรับ เช่น เรียนออนไลน์

“ซึ่งโดยสรุป แม้จะประกาศเปิด on site ก็ยังมีผู้ปกคครองบางท่านยังกลัว เราไม่ได้บังคับว่าจะต้องมาโรงเรียน สามารถเรียนที่บ้านได้ผ่านรูปแบบออนไลน์ จนกว่าผู้ปกครองจะมีความเชื่อมั่นค่อยกลับมาเรียนที่โรงเรียน

และผมขอย้ำว่าในช่วง 2 สัปดาห์แรก ไม่อยากให้โรงเรียนมุ่งเน้นการเรียนการสอนมากเกินไป อยากให้เป็นช่วงเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างครู นักเรียนมากกว่า เพื่อให้นักเรียนมีความรู้สึกว่ามาโรงเรียนมีความสุขกว่าอยู่ที่บ้าน อยากให้จัดการเรียนการสอนแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะอย่าลืมว่า 2 ปีที่ผ่านมา เราผูกนักเรียนไว้กับคอมพิวเตอร์ มือถือ บางรายอาจไม่เคยพบครูประจำชั้นด้วยซ้ำ จึงขอย้ำตรงนี้ และสุดท้ายหากโรงเรียนใดประเมินแล้วยังไม่สามารถเปิด on siteได้ ก็ขอให้ ผอ.เขต ช่วยแก้ไขว่ามีความบกพร่องในเกณฑ์ใด”

แต่อย่างไรก็ตาม นายอัมพรกล่าวอีกว่า สำหรับคู่มือหรือแนวปฏิบัติตามรายละเอียดที่กล่าวมาเบื้องต้น คาดจะออกได้เร็ว ๆ นี้ ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังเผยแพร่ไม่ได้ เนื่องจากใน 2 วันนี้มีการต่อรองใน 2 เรื่องคือ 1.ATK (Antigen test kit) ที่เคยรายงานว่า จะมีการสุ่มตรวจในโรงเรียน ซึ่งติดปัญหาเรื่องงบประมาณในการจัดซื้อจัดหาจึงต้องยกเลิก แต่จะใช้เฉพาะบางพื้นที่ที่มีการติดเชื้อ 2.วัคซีนที่กำหนดเอาไว้ว่าจะต้องฉีดให้ได้ 85% ก่อนเปิดเรียน ขอเฉพาะพื้นที่สีแดงเข้มได้หรือไม่ ส่วนพื้นที่สีแดง ส้ม ก็อาจจะไม่ต้องถึง 85% ก็ได้ อยู่ในขั้นตอนเจรจา เราจึงออกคู่มือตอนนี้ไม่ได้ แต่คาดว่าจะคลอดและส่งถึงโรงเรียนภายในสัปดาห์นี้อย่างแน่นอน

เว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 20 ตุลาคม 2564 – 10:26 น.

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่