ศธ. Kick-Off นำร่อง หลักสูตรฐานสมรรถนะ 265 โรงเรียน เริ่มภาคเรียนที่ 2/2564
(11 ตุลาคม 2564) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการ “นำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” พร้อมด้วยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ., นายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สสวท., นายวรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, นางสิริกร มณีรินทร์ นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน โดยมีนายประวิตร เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. ผู้บริหารและผู้แทนโรงเรียนนำร่อง 265 แห่ง เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ Zoom Cloud Meeting จากห้องประชุมจันทรเกษม
รมว.ศธ. กล่าวว่า ในโอกาสที่ได้เข้ามารับตำแหน่ง ได้แถลงมอบ 12 นโยบายด้านการจัดการศึกษา และ 7 วาระเร่งด่วน (Quick Win) ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเน้นย้ำการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย สู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย ครอบคลุมการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ไปจนถึงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา
การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นอีกก้าวหนึ่งที่มุ่งเน้นยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ ปฏิรูประบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษา ตอบโจทย์การพัฒนาของโลกอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนทุกกลุ่มวัย ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มีทักษะที่จำเป็น สามารถแก้ปัญหา ปรับตัวสื่อสาร และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิผล มีวินัย นิสัยใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และเป็นพลเมืองที่รู้สิทธิและหน้าที่ มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความรักความภาคภูมิใจ และรู้คุณค่าของประวัติศาสตร์ในความเป็นไทย
วันนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย สู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ โดยการเปิด “โครงการนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ใน 8 จังหวัดนำร่อง ครอบคลุม 265 โรงเรียนในสังกัดต่าง ๆ ได้แก่ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถือเป็นการปักหมุดหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาว่าด้วยกิจกรรมปฏิรูปที่ 24 การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ในข้อที่กระทรวงศึกษาธิการมีการดำเนินการเป็นรูปธรรมด้านหลักสูตรการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตอบสนองต่อความถนัดและความสนใจของผู้เรียนรายบุคคล ซึ่งจะนำไปสู่แผนการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนรู้ แบบ Active Learning และแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
“ต้องขอบคุณ สพฐ. รวมทั้งคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานต่าง ๆ ที่ดำเนินงานต่อเนื่องในการยกร่างกรอบหลักสูตร การเตรียมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งในการดำเนินงานได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจ การยอมรับ และเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำ การรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับนโยบายและผู้ปฏิบัติ การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลทั่วไป หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่ง ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันเปลี่ยนผ่านการศึกษาแบบเดิม ที่เต็มไปด้วยตัวชี้วัดมุ่งไปสู่การพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน เปลี่ยน “ห้องเรียน” เป็น “ห้องเรียนรู้” ที่ผู้เรียน “เข้าใจ ทำเป็น เห็นผลลัพธ์” และเด็กทุกคนมีโอกาสในการค้นพบเป้าหมายของตนเอง นำไปสู่ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”
จากนั้น รมว.ศธ. ได้กดปุ่มเปิดเว็บไซต์หลักสูตรฐานสมรรถนะ www.cbethailand.com ซึ่งจะเป็นสื่อกลางในการแสดงความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และเผยแพร่ข้อมูลโครงการอย่างเป็นทางการ
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ของโลกในศตวรรษที่ 21 วิทยาการต่าง ๆ มีความเจริญก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นดังกล่าว จึงได้พัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างมาตรฐานการศึกษาไทย ยกระดับคุณภาพของนักเรียนให้ทัดเทียมนานาชาติ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
สพฐ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนา (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ มาตั้งแต่ปี 2562 และได้การกำหนดกรอบและทิศทางของการพัฒนา ศึกษาเอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการเรียนรู้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งผ่านความร่วมมือกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ภายใต้โครงการ Country Program
ซึ่งต่อมา รมว.ศธ. ได้กำหนดให้หลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนหรือ Quick Win และได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ซึ่งมีนางสิริกร มณีรินทร์ เป็นประธานกรรมการอำนวยการ และคณะอนุกรรมการคณะต่าง ๆ เพื่อดำเนินงานต่อเนื่อง ในการยกร่างกรอบหลักสูตร การเตรียมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับนโยบายและผู้ปฏิบัติ เพื่อให้ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล เป็นหลักสูตรที่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ และความต้องการของชุมชนที่มีบริบทแตกต่างกัน
“ทั้งนี้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น โดยจัดเวทีระดมสมองในประเด็นที่สำคัญและกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง ทดลองใช้หลักสูตรในโรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมโครงการวิจัยในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจำนวน265 โรงเรียน จาก 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ครอบคลุมโรงเรียนในสังกัด สพฐ. 226 แห่ง สช. 17 แห่ง และ อปท. 22 แห่ง ซึ่งจะเริ่มใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในช่วงชั้นที่ 1 ป.1-ป.3 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ตลอดจนจัดเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม เปิดรับความคิดเห็นผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ของกระทรวงศึกษาธิการ และเว็บไซต์หลักสูตรฐานสมรรถนะ http://www.cbethailand.com”