สธ.พัฒนา ยุวอสม. นักเรียน ช่วยงานป้องกันโควิด 19 ในโรงเรียนส่งเสริมสุขบัญญัติทั่วประเทศ

สธ.พัฒนา ยุวอสม. นักเรียน ช่วยงานป้องกันโควิด 19 ในโรงเรียนส่งเสริมสุขบัญญัติทั่วประเทศ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนา ยุวอาสาสมัครสาธารณสุข (ยุวอสม.) ต่อยอดจากแกนนำสุขภาพนักเรียน ในโรงเรียนส่งเสริมสุขบัญญัติทั่วประเทศ เป็นจิตอาสาดูแลสุขภาพเพื่อนนักเรียนและชุมชน เฝ้าระวังและย้ำเตือนวิถีชีวิตใหม่ “สวมหน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือ”

สธ.พัฒนา ยุวอสม. นักเรียน ช่วยงานป้องกันโควิด 19 ในโรงเรียนส่งเสริมสุขบัญญัติทั่วประเทศ
สธ.พัฒนา ยุวอสม. นักเรียน ช่วยงานป้องกันโควิด 19 ในโรงเรียนส่งเสริมสุขบัญญัติทั่วประเทศ

กระทรวงสาธารณสุข พัฒนา ยุวอาสาสมัครสาธารณสุข  (ยุวอสม.) ต่อยอดจากแกนนำสุขภาพนักเรียน ในโรงเรียนส่งเสริมสุขบัญญัติทั่วประเทศ เป็นจิตอาสาดูแลสุขภาพเพื่อนนักเรียนและชุมชน เฝ้าระวังและย้ำเตือนวิถีชีวิตใหม่ “สวมหน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือ” ป้องกันโรคโควิด 19 ตั้งเป้ามียุวอสม. 307,570 คนภายในปี 2566

          บ่ายวันนี้ (13 กรกฎาคม 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าวเรื่อง ยุวอสม.จิตอาสาพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพตามแนวทางสุขบัญญัติรับสถานการณ์โควิด 19 ในโรงเรียน ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามสุขบัญญัติ เป็น “วิถีชีวิตใหม่” ของสังคมไทย เน้น 3 พฤติกรรมหลัก ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างระหว่างกัน และล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหาร ก่อนสัมผัสใบหน้า ตา จมูก เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ สำหรับในกลุ่มเด็กและเยาวชนในโรงเรียน ได้ต่อยอดพัฒนาแกนนำสุขภาพนักเรียนในโรงเรียนส่งเสริมสุขบัญญัติ ให้เป็นยุวอาสาสมัครสาธารณสุข  (ยุวอสม.) เป็นจิตอาสาดูแลสุขภาพเพื่อนนักเรียนและชุมชน เฝ้าระวังและย้ำเตือน “สวมหน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือ” แบ่งเบาภาระครูและเจ้าหน้าที่ในโรงเรียน

          นพ.ธเรศกล่าวต่อว่า ปัจจุบันมียุวอสม. 14,086 คนใน 2,443 โรงเรียน ตั้งเป้าหมายในปี 2563 ดำเนินการใน 878 อำเภอๆ ละ 2 โรงเรียนๆ ละ 10 คน รวม 17,560 คน และเพิ่มเป็น 35,120 คนในปี 2564  ครอบคลุมโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 30,757 แห่ง รวม 307,570 คนภายในปี 2566 ก่อนขยายผลไปยังโรงเรียนในสังกัดอื่นๆ ซึ่งยุวอสม. จะได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในทักษะด้านสุขภาพ ที่สามารถนำมาใช้กับตนเอง ครอบครัว และสังคม ฝึกการเป็นผู้นำด้านสุขภาพ พัฒนาเป็นนักจัดการสุขภาพในโรงเรียนและชุมชน และจะได้รับใบเกียรติบัตรเป็น “ยุวอาสาสมัครสาธารณสุข” แสดงถึงความเป็นผู้นำและผู้เสียสละ ส่วนโรงเรียนที่มีการพัฒนาคุณภาพตามแนวทางสุขบัญญัติในระดับดีเยี่ยม จะได้รับโล่และใบเกียรติบัตรต้นแบบโรงเรียนส่งเสริมสุขบัญญัติแห่งชาติ 

          สำหรับหน้าที่ของ ยุวอสม. ที่ได้รับการคัดเลือกจากโรงเรียน จะร่วมเป็นทีมงานกับครู ผู้ปกครอง เครือข่ายในพื้นที่ แกนนำชุมชน เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ในการพัฒนา “วิถีชีวิตด้วยสุขบัญญัติ” เป็นแกนหลักในการส่งเสริมและเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพเพื่อนนักเรียน โดยเฉพาะการป้องกันโรคโควิด 19 อาทิ จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้/สร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพ เช่น จัดบอร์ดประชาสัมพันธ์ เสียงตามสาย เฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การเล่นในระยะห่างที่เหมาะสม การล้างมือ ความสะอาดส่วนบุคคล รวมทั้งเป็น “ต้นแบบด้านสุขภาพ” / ร่วมกับครูค้นหานักเรียนต้นแบบสุขภาพ เพื่อส่งเสริมให้คงพฤติกรรมสุขภาพดีอย่างต่อเนื่อง  

          ดร.บุณยพงศ์ โพธิวัฒน์ธนัต ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ กทม. กล่าวว่า โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ มีนักเรียนกว่า 3,300 คน ในการป้องกันโรคโควิด 19 ได้กำหนดให้นักเรียนสวมหน้ากากก่อนเข้าโรงเรียน วัดอุณหภูมิด้วยกล้องอินฟราเรดและส่งผลไปยังผู้ปกครอง จัดนักเรียนไม่เกิน 20 คนต่อห้องเรียน และแบ่งสลับวันเรียนระหว่าง ม.ต้น และม.ปลาย เพื่อเว้นระยะห่าง นอกจากนี้ ได้ต่อยอดแกนนำจากหลายชมรมในโรงเรียน เป็น ยุวอสม. ช่วยดูแลป้องกันโรคโควิด 19 และโรคอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เน้นการปฏิบัติตามสุขบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งนักเรียนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

         ดร.ธัญนรัตน์ โชติวิวุฒิพงศ์  ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสะแก จ.ปทุมธานี กล่าวว่า โรงเรียนวัดสะแก เป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลาง มีนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 20 คน ได้กำหนดรูปแบบป้องกันโรคโควิด 19 โดยนักเรียน ครู ผู้มาติดต่อโรงเรียนจะต้องสวมหน้ากาก มีการคัดกรองนักเรียนทุกเช้าก่อนเข้าโรงเรียน เน้นการล้างมือ ซึ่งสอดคล้องตามสุขบัญญัติแห่งชาติ และได้สร้างนักเรียนแกนนำ เป็นยุวอสม.ช่วยครูดูแลสุขภาพนักเรียน ช่วยคัดกรองนักเรียนก่อนเข้าโรงเรียน จัดกิจกรรมสอนน้องล้างมือ 7 ขั้นตอนประกอบสื่อการสอน ในชั้นเด็กเล็ก-ป.3 และสอนการแปรงฟันถูกวิธีภายใต้โควิด 19 ในชั้นป.4-ป.6 ทำให้ยุวอสม. ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพตนเอง คนรอบข้าง และชุมชน ได้ฝึกการเป็นผู้นำ มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และคาดหวังให้ร่วมสร้างยุวอสม.รุ่นต่อไป

ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่