สพฐ. กำหนดให้ ร.ร.เปิดรับสมัคร น.ร. เข้า ม.1และม.4 ผ่านระบบออนไลน์ วันที่ 3-12 พ.ค.

สพฐ. กำหนดให้ ร.ร.เปิดรับสมัคร น.ร. เข้า ม.1และม.4 ผ่านระบบออนไลน์ วันที่ 3-12 พ.ค.

โดยโรงเรียนที่เปิดรับสมัครนั้นจะมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโรงเรียนที่มีรับนักเรียนได้ตามแผนรับที่กำหนด และกลุ่มโรงเรียนที่มีนักเรียนเข้าสมัครเกินกว่าจำนวนรับที่โรงเรียนกำหนด ที่มีกว่า 190 แห่ง

เมื่อวันที่ 9 เมษายน นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฏาคม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหน่วยงานที่มีนักเรียนเกือบ 7 ล้านคน และครูกว่า 500,000 คน มีโรงเรียนกว่า 30,000 แห่ง จึงต้องวางแผนเตรียมความพร้อมให้ครบถ้วน โดยสพฐ.จะทำประกาศกำหนดระยะเวลาเปิดภาคเรียน

โดยเปิดภาคเรียนที่ 1 ในวันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 30 พฤศจิกายน และภาคเรียนที่ 2 เปิดเรียนในวันที่ 1 ธันวาคม ถึง 30 เมษายน ฉะนั้นปีการศึกษา 2563 จะไม่มีการปิดเทอม ทั้งนี้หากโรงเรียนใดอยากให้นักเรียนหยุดพักก็สามารถบริหารจัดการ จัดวันสอนชดเชยในวันหยุดได้ หลังจากนี้ สพฐ.จะประกาศปฏิทินการเปิดภาคเรียน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป

ส่วนการรับสมัครนักเรียนในระดับชั้น ม.1 และ ม.4 เบื้องต้น สพฐ. กำหนด ให้โรงเรียนเปิดรับสมัครผ่านทางออนไลน์ในวันที่ 3-12 พฤษภาคม โดยโรงเรียนที่เปิดรับสมัครนั้นจะมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโรงเรียนที่มีรับนักเรียนได้ตามแผนรับที่กำหนด และกลุ่มโรงเรียนที่มีนักเรียนเข้าสมัครเกินกว่าจำนวนรับที่โรงเรียนกำหนด ที่มีกว่า 190 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนดังที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะสามารถรองรับการรับสมัครออนไลน์อยู่แล้ว แต่ตนกังวลเรื่องความไม่โปร่งใส และความไม่เท่าเทียมกัน” นายอำนาจกล่าว

นายอำนาจ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการสอบนั้น ก็มีข้อเสนอให้ใช้ผลการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต มาใช้ในการรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนต่อในระดับชั้น ม.1และ ม.4 ด้วย ซึ่งตนเห็นว่า ถ้าให้มาตรการนี้จะต้องประกาศให้นักเรียนทราบล่วงหน้า 1 ปี ดังนั้นทางเลือกนี้ จะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่ สพฐ.จะเลือกใช้ ส่วนการสอบเข้าเรียนนั้น จะให้โรงเรียนกำหนดข้อสอบเอง แต่สพฐ.ยังไม่ตัดสินใจว่าจะสอบโดยวิธีไหน เบื้องต้นอยากให้มาสอบในโรงเรียน โดยให้โรงเรียนดำเนินการตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing หรือให้นักเรียนเข้าโรงเรียนครั้งละ 30 คน โดยจัดห้องสอบให้เว้นระยะห่างกัน เมื่อสอบเสร็จต้องรีบออกจากโรงเรียนทันที เป็นต้น เพราะการที่นักเรียนไปสอบด้วยตัวเอง จะไม่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ทั้งนี้สพฐ.ขอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง แต่การสอบนั้นจะต้องสอบพร้อมกันทั่วประเทศด้วย

“ในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) วันที่ 17 เมษายนนี้ สพฐ.จะนำเสนอมาตรการการรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งเสนอที่ประชุมรับทราบถึงการเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 เพื่อให้ที่ประชุม กพฐ.ให้ข้อเสนอแนะต่อไป” นายอำนาจกล่าว และว่า ขณะนี้ สพฐ.จัดการเตรียมการเรียนการสอนออนไลน์ โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ขอให้ผู้ปกครองและนักเรียนอย่ากังวลเรื่องนี้ ทั้งนี้ขอความร่วมมือผู้ปกครองเปลี่ยนบทบาทเป็นครู เปลี่ยนบ้านเป็นห้องเรียน และใช้เทคโนโลยีมาใช้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้ลูก เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนต่อไป

ที่มาของข่าวและอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : มติชนออนไลน์ 9 เมษายน 2563

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่