สพฐ.ชงทบทวนมติครม.จัดครูลงรร.ขนาดเล็ก สพฐ.เตรียมชง ครม.ทบทวนมติไม่ให้จัดสรรอัตรากำลังครูลงในโรงเรียนมีเด็กน้อยกว่า 120 คน โดยให้จัดสรรครูได้ หลังควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้ตามแผน “ณัฏฐพล”ชี้ต้องจัดครูให้เพียงพอ เพื่อให้การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ

เมื่อวันที่  4 ก.พ.  นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการจัดสรรตำแหน่งลงในโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งเดิมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติไม่ให้จัดสรรอัตรากำลังลงในโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน และให้ยุบตามอัตราเกษียณ ขณะที่การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กก็ยังไม่เป็นไปตามแผนที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)กำหนดไว้

ดังนั้น สพฐ.จึงได้เสนอให้จัดสรรอัตรากำลังครูที่เหมาะสมที่ลงไปในโรงเรียนขนาดเล็ก เช่น โรงเรียนที่มีนักเรียน 40 มีนักเรียน 80 และมีนักเรียน 120 คน ว่า ควรต้องมีครูจำนวนเท่าไร  ให้เพียงพอเพื่อให้การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

ด้าน ดร.อำนาจ กล่าวว่า ตนได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ในเรื่องการจัดสรรอัตรากำลังครูให้แก่โรงเรียนขนาดเล็ก เพราะหากไม่จัดสรรลงไปให้การจัดการเรียนการสอนก็จะมีปัญหา โดยเฉพาะโรงเรียนห่างไกลที่อยู่โดดเดี่ยว โดยจะเสนอแผนการจัดสรรอัตราครูต่อจำนวนนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กให้ บอร์ด ก.ค.ศ.พิจารณา เพื่อให้เสนอ ครม. เห็นชอบต่อไป

อย่างไรก็ตามจากการรายงานต่อ รมว.ศึกษาธิการ นั้น นายณัฎฐพล ไม่ได้ห่วงว่าจะต้องควบรวมโรงเรียนให้ได้ตามแผน แต่ห่วงเรื่องคุณภาพการจัดการศึกษา ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ดีขึ้น ทั้งนี้ สพฐ. มีโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมด 29,871 โรงเรียน โดยข้อมูลล่าสุด ตั้งแต่ปี 2559 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 มีโรงเรียนที่ถูกยุบแล้วประมาณ 1,000 แห่ง

“เมื่อเร็วๆนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ลงพื้นที่ในจังหวัดร้อยเอ็ด และพบว่า มีหลายโรงเรียนที่อยู่ใกล้กันการคมนาคมสะดวก สามารถควบรวมกันได้ โดยตนได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ไปตรวจสอบ ว่า ในพื้นที่มีโรงเรียนลักษณะดังกล่าวจำนวนเท่าไร เพื่อดำเนินการควบรวม แต่จะต้องได้รับการยินยอมจากชุมชน ขณะเดียวกัน รมว.ศึกษาธิการ ก็ได้มอบหมายให้ สพฐ.ไปพัฒนาโรงเรียนหลักที่จะไปควบรวมให้ดี  มีคุณภาพ ให้เด็กอยากไปเรียน โดยให้ทำเป็นต้นแบบเพื่อเป็นตัวอย่าง ซึ่งสพฐ. ก็จะไปคัดเลือกโรงเรียนต้นแบบ 1-2 แห่ง เพื่อจัดสรรงบประมาณลงไปพัฒนาเป็นพิเศษ ” ดร.อำนาจ กล่าวและว่า ส่วนกรณีที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)ขอใช้พื้นที่โรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกยุบรวม และยุบเลิกมาจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ทุกช่วงวัยของ กศน. นั้น สพฐ.ไม่ขัดข้องเพราะเป็นความร่วมมือกับหน่วยงานภายใน ศธ

ขอบคุณที่มาของข่าว เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่