“สมศ.” ประเมินโรงเรียนรอบสี่ 2.5 พันแห่ง ผลการประเมินเป็นที่น่าพอใจ “ดีเยี่ยม-ดีมาก”

“สมศ.” ประเมินโรงเรียนรอบสี่ 2.5 พันแห่ง ผลการประเมินเป็นที่น่าพอใจ “ดีเยี่ยม-ดีมาก”

โดยเฉพาะสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับดีเยี่ยมและดีมาก เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและวัสดุอุปกรณ์ แหล่งเรียนรู้ ตลอดจนถึงการได้มาของผู้เรียน

“สมศ.” ประเมินโรงเรียนรอบสี่ 2.5 พันแห่ง ผลการประเมินเป็นที่น่าพอใจ “ดีเยี่ยม-ดีมาก” 2

การประกันคุณภาพภายนอกเป็นการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา เพื่อให้มีการติดตามและตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา โดยคำนึงถึงความมุ่งหมาย หลักการ และแนวทางการจัดการศึกษาในแต่ละระดับ ซึ่งประเมินโดย สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ที่ได้กำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งต้องได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกอย่างน้อย 1 ครั้ง ในทุกรอบ 5 ปี ล่าสุด สมศ.เผยสถานการณ์การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (2559-2563) มีสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้รับการประเมินแล้วส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีมากถึงดีเยี่ยม

“ขนิษฐา ตั้งวรสิทธิชัย” รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา กล่าวว่าการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (2559-2563) สมศ.ได้ลงพื้นที่ไปยังสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์การประเมินขณะนี้ถือว่าเป็นไปด้วยดีและมีความต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น ในปี 2562ที่ผ่านมา มีสถานศึกษาที่ลงพื้นที่ประเมินแล้ว 2,500 แห่ง ซึ่งผลการประเมินเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับดีเยี่ยมและดีมาก เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและวัสดุอุปกรณ์ แหล่งเรียนรู้ ตลอดจนถึงการได้มาของผู้เรียน ทั้งนี้ สถานศึกษาที่ได้รับการประเมินไปแล้ว มีความโดดเด่นที่แตกต่างกันทั้งด้านผู้บริหารและด้านตัวผู้เรียน รวมถึงมีการประยุกต์วิธีการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ในปี 2563 สมศ.จะทำการประเมินสถานศึกษาที่เหลืออยู่ ซึ่งขณะนี้มีสถานศึกษาที่ส่งรายชื่อเข้ามาเพื่อขอรับการประเมิน 2,500 แห่งทั่วประเทศและคาดว่าก่อนสิ้นปีการศึกษาในเดือนมีนาคม 2563 จะมีสถานศึกษาขอรับการประเมินเพิ่มเติม

และสำหรับแนวทางในปีนี้นั้น การประเมินคุณภาพภายนอกจะต้องขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายสำคัญในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในตัวผู้ประเมินภายนอกให้มีมิติมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของการประเมินที่มีความหลากหลาย ทั้งในส่วนของบทบาทหน้าที่ เช่น การเพิ่มผู้ประเมินภายนอกสำหรับสถานศึกษาที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ การจัดการเรียนการสอนในลักษณะพิเศษบางประการ เช่น สถานศึกษาที่มีความเป็นเลิศเฉพาะด้าน สถานศึกษาที่จัดการศึกษาเพื่อผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น

นอกจากนี้ จะต้องมีการทบทวนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการประเมินให้ผู้ประเมินภายนอกเข้าใจว่า จะต้องมีความชัดเจนมากขึ้นทั้งกระบวนการทำงานและขั้นตอนต่าง ๆ ส่วน สมศ.จะพัฒนาและมุ่งเน้นการสร้างให้องค์กรเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล สร้างความเข้มแข็งให้แก่ตัวองค์กร และสร้างความน่าเชื่อถือ

โดยที่ผ่านมา สมศ.พยายามจะลดภาระการทำเอกสารของสถานศึกษาลงโดยการพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อการประเมินคุณภาพภายนอก (automated quality assurance : AQA) โดยมีการแบ่งระบบการทำงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก มีการประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือให้สถานศึกษาเปลี่ยนวิธีการส่งรายงานการประเมินตนเอง (self assessment report : SAR) จากรูปเล่มกระดาษเป็นการจัดส่งไฟล์ผ่านอีเมล์เข้าสู่ระบบ AQA (automated quality assurance) ส่งผลให้สามารถจัดเก็บข้อมูลรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษาไว้อย่างเป็นระบบ สะดวกต่อการศึกษาข้อมูลก่อนการลงประเมิน

ส่วนในระยะที่สองนั้น เป็นการสนับสนุนการประเมินคุณภาพสถานศึกษาจากรูปแบบเอกสาร (paper-basedEQA-external quality assessment) ไปสู่รูปแบบดิจิทัล (digital-based EQA) ด้วยการส่งเสริมให้หน่วยงานต้นสังกัดเป็นศูนย์สารสนเทศด้านการประกันคุณภาพการศึกษา (quality assurance information center) โดยที่สถานศึกษาส่งข้อมูลไปยังต้นสังกัดได้เลย ไม่จำเป็นต้องส่งข้อมูลหรือจัดทำเอกสารประกอบการประเมินคุณภาพภายนอกมายัง สมศ. เพื่อลดภาระการป้อนข้อมูลด้านการประกันคุณภาพของสถานศึกษา ซึ่งจะเริ่มทดลองใช้ในการประเมินการศึกษาด้านการอาชีวศึกษาก่อน

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าว : ประชาชาติธุรกิจ 10 กุมภาพันธ์ 2563

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่