แนะแนวทางออกแบบการสอนอย่างสร้างสรรค์ เติมเต็มให้เด็กไทยเก่งรอบด้าน

สมศ. แนะแนวทางพัฒนาระบบการศึกษาไทยก้าวสู่ทศวรรษใหม่ ออกแบบการสอนอย่างสร้างสรรค์เติมเต็มให้เด็กไทยเก่งรอบด้าน ผลักดันมาตรฐานการศึกษาให้ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สมศ. แนะ ออกแบบการสอนอย่างสร้างสรรค์เติมเต็มให้เด็กไทยเก่งรอบด้าน
สมศ. แนะ ออกแบบการสอนอย่างสร้างสรรค์เติมเต็มให้เด็กไทยเก่งรอบด้าน

ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 20 ปี สมศ. ได้ปรับการทำงาน และยกระดับองค์กรให้เป็นองค์กรที่มีความทันสมัย เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พร้อมทั้งสร้างความน่าเชื่อถือในระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาในประเทศไทยให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยสมศ. ได้วางแผนในการยกระดับองค์กรให้เป็นองค์กรในการขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาไทยให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ดังนี้

  • พัฒนาระบบประเมินคุณภาพด้วยการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในขั้นตอนการประเมินคุณภาพการศึกษา ซึ่งแนวทางดังกล่าวส่งผลให้สถานศึกษาสามารถลดภาระงานเอกสารลงได้ อีกทั้งยังช่วยให้ สมศ. มีฐานข้อมูลของสถานศึกษาทั่วประเทศ และสามารถนำฐานข้อมูลดังกล่าวมาใช้พัฒนาแนวทางการประเมินให้สอดคล้องกับสถานศึกษา รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะกับสถานศึกษาเพื่อให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะสม
  • ศึกษาและทำข้อตกลงเกี่ยวกับระบบการประเมินกับประเทศอื่น ๆ ที่ได้รับการยอมรับว่ามีระบบการศึกษาที่ดี โดย สมศ.ได้ศึกษาเกณฑ์และระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาของต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศสิงคโปร์ ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร
  • ประสานกับหน่วยงานต้นสังกัด อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรุงเทพมหานคร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อกำหนดมาตรฐานของสถานศึกษาและเกณฑ์การประเมินร่วมกัน
สมศ. แนะ ออกแบบการสอนอย่างสร้างสรรค์เติมเต็มให้เด็กไทยเก่งรอบด้าน

นอกจากระบบประเมินคุณภาพการศึกษาที่ต้องเร่งปรับตัวให้สอดรับกับการพัฒนาการศึกษาในยุคศตวรรษที่ 21 แล้ว ส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันมาตรฐานการศึกษาให้ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ สถานศึกษา และครูผู้สอน เพราะทั้ง 2 ส่วน ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา และครูผู้สอนจะต้องปรับรูปแบบการสอนโดยมุ่งเน้นให้เกิดประสิทธิภาพกับตัวผู้เรียนมากที่สุด ดังนี้

  • ครูผู้สอนจะต้องกำหนดหลักสูตร กรอบการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน เพื่อดึงดูดความให้ผู้เรียนมีความสนใจในการเรียนมากยิ่งขึ้น เพราะการสอนตามที่ผู้เรียนออกแบบเองนั้นจะส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในรายวิชานั้นๆ และสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
  • มุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนโดยการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้าถึงทรัพยากรและองค์ความรู้ใหม่ ๆ ผ่านการสร้างสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ โดยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลาและสถานที่ มากกว่าการนั่งเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว
  • สร้างการมีส่วนร่วมให้ผู้เรียนผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้  การคิดวิเคราะห์ และการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาตั้งคำถามปลายเปิดกับผู้เรียนอยู่ตลอดเวลา
  • สร้างกระบวนการคิดที่เป็นระบบและมีความคิดสร้างสรรค์ ฝึกฝนให้ผู้เรียนทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เพราะเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญที่ผู้เรียนจะนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

“นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งสำคัญคือตัวผู้เรียน ที่จะต้องใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์กับตนเองร่วมด้วย เพราะคุณสมบัติสำคัญของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 จะต้องสามารถค้นคว้า เรียนรู้ และแลกเปลี่ยน พร้อมทั้งแบ่งปันความรู้กับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม สามารถคัดกรองและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างสมเหตุสมผล อีกทั้งจะต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไปได้อย่างทันท่วงที มีความเป็นผู้นำ เป็นตัวของตัวเองและมีศักยภาพที่หลากหลาย (Multi Skill) สามารถทำงานได้หลายรูปแบบ พร้อมทั้งสามารถจัดสรรเวลาได้อย่างเหมาะสมระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต”  ดร.นันทา กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 0-2216-3955 หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่